วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 17/21 (1)


พระอาจารย์
17/21 (571231C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
31 ธันวาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ให้ห้าวหาญในการปฏิบัติ ...อย่าไปห้าวหาญตามกิเลส อย่าไปห้าวหาญกับการเอาชนะคะคานในความคิดในความเห็นกับคนอื่น

มันไม่มีประโยชน์หรอก เสียเวลาเปล่า ...บาดเจ็บล้มตายเพราะว่าทะเลาะเบาะแว้งกันในธรรมนี่ล่ะ ตกนรกหมกไหม้ก็เพราะการทะเลาะกันในธรรมนี่แหละ

ซึ่งมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ว่าตรงต่อธรรมเลย มันไม่ได้เป็นสิ่งที่จรรโลงพระศาสนาเลย ...กลับทำความมืดมน  มืดบอด ต่อศีลสมาธิปัญญาเสียด้วยซ้ำ

การจะสืบทอดอายุพระศาสนา การจะทำให้พระศาสนานี้มีคุณค่า มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นมรรคเป็นผลขึ้น ...คือต้องทำตัวเองนี่ให้บังเกิดด้วยศีลสมาธิปัญญา

เนี่ย เรียกว่าอุ้มชูพระศาสนาโดยตรงเลย ...ไม่ต้องลงทุนเสียเงินสักสตางค์แดงเดียว นั่งอยู่เฉยๆ นี่ “กูอุ้มศาสนาแล้วโว้ย” โดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงเสียเงินเสียทองด้วยนะ

ไม่ต้องไปก่อสร้างเจดีย์ ไม่ต้องไปเดินถือบาตรถือกลดธุดงค์อะไรบ้าบอ ...อยู่ตรงนี้ แต่เปี่ยม เต็ม ล้น ด้วยศีลสมาธิปัญญาภายใน ...นี่คือการอุ้มชูพระศาสนา

เวลาพระพุทธเจ้าท่านก่อนสิ้นพระชนม์ ก่อนนิพพาน  ท่านฝากศาสนา ฝากศีลสมาธิปัญญาไว้กับพุทธบริษัท ๔  ท่านให้อยู่ยืนเดินนั่งนอนอยู่ในศีลสมาธิปัญญา ...อย่างนี้ท่านเรียกว่าฝากไว้

มันก็ไม่เอา และไม่เก็บไม่งำไว้ ...เหมือนกระเชอก้นรั่วน่ะ ...ไม่แม้กระทั่งเพียรที่จะรักษา ไม่เพียรที่จะค้นหาศีลสมาธิปัญญาของตัวเองภายใน

แต่ถนัดถนี่เหลือเกินในการจับผิดศีลสมาธิปัญญาผู้อื่น สำนักอื่น ลูกศิษย์อาจารย์องค์อื่น นี่....เกิดมากินข้าวเสียข้าวสุก เป็นสำนัก เป็นพุทธศาสนาแค่ชื่อทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน

แล้วก็ห้อยคอด้วยพระ ...แต่ไม่ได้ใกล้พระเลย พระธรรมก็ไม่ได้ถึงเลย พระสงฆ์ก็ไปสุ่มๆ เดาๆ เอาตามป่า ราวป่า ...ไม่รู้ว่าพระหรือแพะน่ะ กูก็สุ่มเอาล่ะวะ

ทำให้มันถึงด้วยตัวเองสิ เอามันจนเคารพได้...เคารพศีลของตัวเองได้น่ะ ไม่บกพร่องในศีลเลย อย่างนี้ ...ไม่มีใครไหว้กูหรอก กูไหว้ตัวเอง อยู่ในป่าไหว้ทั้งวัน ไหว้ศีลตัวเอง ไม่ได้ไหว้กิเลสเลย

ไหว้ที่ตัวเองมีศีล เคารพนบนอบศีลของตัวเอง ไม่มีคำว่าขาดตกบกพร่องด่างพร้อยไปเลย ...เออ มันน่ากราบไหว้ ขนาดตัวเองยังกราบไหว้ตัวเองลงเลย

เพราะเต็มเปี่ยมไปด้วยศีล ...จิตไม่มีคำว่ากระดิกกระเดี้ยออกนอกไปมา เหมือนเคย เหมือนแต่เก่าก่อน เหมือนที่เคยเป็นมาเป็นอเนกชาติ เออ มันน่าเคารพ...อธิจิต อธิศีลของเจ้าของน่ะ

ใครรู้-ใครไม่รู้...ไม่สนน่ะ แต่ตัวเองมันอยู่ได้โดยไม่ละอายใจ ...เออ กูเกิดมานี่ไม่เสียข้าวสุกเว้ย ไปบิณฑบาตเขามากินนี่ ไม่เปลืองแรง ไม่เสียข้าวสุกเขา

กว่าเขาจะมาใส่บาตร นี่ กูเดินบิณฑบาตหกโมง เขาต้องตื่นตีสี่น่ะ ใช่มั้ย ลงทุนนะนั่นน่ะ แล้วไปเดินเอามากินง่ายๆ อย่างเนี้ย เออ นี่พระนะ ...เฮ้ย กูก็ไม่เสียข้าวสุกเขาแล้ว

ตรวจสอบถึงศีลในตน ตรวจสอบถึงสมาธิในตน ตรวจสอบถึงปัญญาในตน ตรวจสอบถึงวิมุติในตน นิพพานในตน ...เออ เขาไม่เสียข้าวสุก เขาไม่เสียแรง

ที่เขาตื่นมา เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำ ถวายประเคน นบแล้วนบอีก ไหว้แล้วไหว้อีก โดยที่ไม่ได้ให้ยถาอะไรเขาเลย เขาก็ให้ บุญเขาก็ได้ อานิสงส์เขาก็ได้โดยกลายๆ แล้ว

แต่ถ้ามันมาตรวจสอบตัวเองแล้วมันน่าอายน่ะ มันน่าละอาย ...แล้วก็ยังอยู่กันแบบไร้ยางอายน่ะ ไม่อายตัวเองก็อายผีอายสาง อายเทวดาบ้าง

อย่ามาอยู่กันไปวันๆ นี่ถึงจะไม่ได้เป็นพระ ก็ได้ชื่อว่าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ...ให้คนเขามาด่าทอ ย่ำยี ลบหลู่ ว่านี่หรือนับถือพุทธ...ก็เห็นเท่านั้นน่ะ นี่หรือหือ

อย่างบางคนมันบอกไม่นับถือศาสนาอะไร ทำไมดูจิตใจยังสูงกว่าคนนับถือพุทธอีก ...นี่ ให้เขาดูถูกเอาอีก ล่วงเกินมาจนถึงบรมครู...คือพุทธะ

ก็มันทำตัวกันอย่างนี้ จิตใจเป็นอย่างนี้ พูดคุยกันอย่างนี้ ...มันไม่ได้อยู่ในศีลสมาธิปัญญา ไม่ได้เพียรพยายามที่จะค้นหาศีลสมาธิปัญญาในตัวเอง ไม่ได้เพียรที่จะรักษาศีลสมาธิปัญญาของตัวเองไว้

จนศีลสมาธิปัญญาของตัวเองที่รักษาไว้ มันฉายแววออกมา คือแสดงความประภัสสร ...ที่ท่านบอกว่าศีลนี่เป็นเครื่องหอมที่ทวนลม โดยที่ไม่ต้องไปโฆษณาสาธยายเลย เป็นของหอมทวนลม

นี่ พูดแต่เรื่องศีลนี่แหละ ...ไม่พูดเรื่องนิพพานน่ะ พูดไปมันก็ไม่รู้เรื่อง พูดไปก็เท่านั้นน่ะ เหมือนกับเอาน้ำรด...หัวตอน่ะ เออ


โยม –  นึกว่าหลวงพ่อจะบอกว่าศีรษะ

พระอาจารย์ –  เอ้ย ศีรษะน้อยไป ฟังดูสุภาพไป ...เออ ถ้าพูดถึงเรื่องศีลเรื่องอะไรนี่ เหมือนน้ำราดลงบนดิน ยังพอซึมบ้าง ...แต่ถ้าพูดถึงสมาธิธรรม ปัญญาธรรม หรือวิมุติธรรม ...มันก็ว่า “กูละงง”

แล้วก็ไปฝันเฟื่องเลื่อนลอยในนิพพานเลย อย่างนั้น ...ไม่มีประโยชน์ มันเกินธรรม เกินธรรมแก่ตน ยังไม่ได้อยู่ในชั้นที่จะต้องฟัง หรือต้องขยายความให้เข้าใจ

ตอนนี้ขยายจนคอเป็นเอ็น...เอ็นนี่ๆ เอ็นขึ้นนี่...เรื่องศีล ...อย่างอื่นไม่พูด ...จนกว่ามันจะได้ศีล จนกว่ามันจะมีศีล จนกว่ามันจะรักษาศีลเป็น ...ก็ไม่เห็นมันเป็นนี่ 

ถ้ามันรักษาให้มีได้ รักษาเป็น รักษาจนเต็ม...จะพูดให้ฟัง ...ไม่อย่างนั้นมันจะเกิดสภาวะที่เรียกว่าคลาดเคลื่อนในธรรม  เดี๋ยวมันไปอัพโหลด แล้วก็ไปดาวน์โหลดให้ผู้อื่น ใช่มั้ย


โยม –  ฟังกัน

พระอาจารย์ –  หารู้ไม่กูกำลังแจกไวรัส ใครรับเอาไปนี่ เจ๊ง


โยม –  เจ๊ง เครื่องพัง

พระอาจารย์ –  บางคนมันไม่ได้ว่าเจ๊ง ...มันเก็บเข้าโฟลเดอร์มันเลยน่ะ แล้วเป็นโฟลเดอร์ที่ขึ้นหิ้งไว้ด้วย ห้ามลบหลู่นะ ห้ามแตะต้อง ...มันก็เลยไม่เคยเข้าไปแตะเลย

นี่ เอาแค่ศีลตัวเดียวน่ะ...ให้มันตรง และกล้าที่จะทุ่มเทลงไป ...ท่านถึงบอกว่า รักษาศีลเท่าชีวิต

หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็น ไม่ว่าจะใกล้ตาย ไม่ว่าจะกำลังจะตาย หรือไม่ว่ากำลังเดือดร้อนแสนสาหัส ทุกข์ทุรนทุราย บีบคั้นด้วยกิเลสภายนอก-ภายใน

ถูกเหตุการณ์จู่โจม ฮึกโหม  ถูกเผาลนด้วยสภาวะโลก สภาวะครอบครัว สภาวะเหตุบ้าบออะไรที่จะเจอในหน้าที่การงานนี่ ...จะต้องอ้างถึงศีล อิงถึงศีล...ให้ถึง..ให้ได้

นั่นแหละคือผู้ปฏิบัติที่แน่วแน่ต่อศีล ...นี่ ต้องการผู้ปฏิบัติที่แน่วแน่ต่อศีล ก่อนที่จะแน่วแน่ต่อนิพพาน ...ถ้าไม่ได้ศีลก็ไม่ได้นิพพาน ถ้าไม่มีศีลก็ไม่เกิดนิพพาน ถ้าไม่ถึงศีลก็ไม่ถึงนิพพาน

นี่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ นั่ง..รู้ ยืน..รู้ เดิน..รู้ ขยับ..รู้ ไหว..รู้  อยู่อย่างนี้ รู้มันเข้าไป ...ก้าวเดินแต่ละก้าวนี่ การกระทบ ฝ่าตีนกับผืนดินนี่...ให้มันพอดีกัน ให้มันรู้ทันกัน รู้เท่ากัน เสมอกัน

กายใจนี่เสมอกัน ไม่ให้ล้ำกัน เกินกัน ...ขาซ้ายไปแล้ว ไปรู้ที่ขาขวายังไม่ก้าวอย่างนี้ หรือขาขวาก้าวแล้ว ไปรู้ตอนที่ขาซ้ายมันกำลังก้าวอยู่ อย่างนี้ มันไม่พอดีกัน

หรือไม่รู้เลยทั้งซ้ายทั้งขวา แต่เสือกไปรู้ว่า...ไอ้นั่นมันเลิกกับกู กูเลิกกับมึง คนนั้นมันไปเอาคนนี้ ...ไปรู้ทำไม ไอ้นี่เขาเรียกว่านอกกายนอกใจ นอกศีลนอกสมาธิปัญญา

อย่างนี้เรียกว่าออกนอก..แบบให้อภัยไม่ได้ ...สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมนะ ถ้าคนอื่นเราไม่ว่า เขาไม่ได้มาขอเข้าทะเบียนสำมะโนครัวเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ...ช่างหัวมึง 

แต่ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมนี่ ถือว่าผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เป็นการแสดงถึงความไม่เคารพต่อศีล บกพร่อง ไม่เคร่งครัด ไม่มัธยัสถ์ในศีล

แต่ว่าไอ้การห้าม หรือการที่ว่าไม่ให้มันเกิดอาการหลงลืม หรือว่าพลั้งเผลอ ลืมเลือนไปนี่ ...มันห้ามไม่ได้อยู่แล้ว ...แต่อย่าไปเห็นดีเห็นงามไปกับมัน เมื่อมันเกิดพลาดพลั้งเผลอไป

ต้องรีบเร่ง...กลับที่กลับฐาน...กลับกาย กลับมาอยู่กับใจ กลับมาอยู่กับปัจจุบัน...อย่างเอาจริงเอาจัง ...นี่ อย่างเอาจริงเอาจังด้วยนะ ไม่ใช่เอากันเล่นๆ นะ

เพราะกิเลสมันไม่เคยเล่นกับเราหรอก มันเอาจริงนะ ...กิเลสนี่เขาเอาจริงนะ เขาให้ทุกข์จริง เขาสร้างทุกข์จริง เขาสร้างสุขให้จริง เขาสร้างเรื่องหลอกลวงจริงตลอดเวลา

เขาจริงจังนะ...ในการสร้าง ในการปรุง ในการแต่งนี่ ...เขาไม่ได้มาแกล้งเราเล่นๆ นะ เอากันจนตาย-เกิดๆๆ เป็นนับภพนับชาติไม่ได้...ไม่ใช่เล่นๆ กันนะ

แต่ศีลสมาธิปัญญาของเรา มาทำกันเล่นๆ ได้ยังไง...กิเลสเขาไม่เล่นด้วยน่ะ ...เมื่อทันเมื่อไหร่ก็ละกันตรงนั้น แล้วกลับมาอยู่ในที่ตรงนี้...พอดีกัน

อย่าเบื่อ อย่าถอย อย่าท้อ อย่าเลี่ยง ในการประกอบการงานอันชอบเช่นนี้ เรียกว่าการงานอันชอบในองค์มรรค...โดยมีสตินี่เป็นตัวประคับประคอง เป็นพี่เลี้ยงนางนม

เพราะว่าจิตนี่ มันจะออกไปปรุงแต่งขันธ์ได้นี่ มันออกไปใน ๔ ลักษณะช่องทาง...คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ...การปรุงแต่งขันธ์น่ะ จะออกมาลักษณะใหญ่ๆ อย่างนี้

โดยภาพรวมนี่...เป็นกายบ้าง เป็นลักษณะกายรูปบ้าง เป็นลักษณะกายสังขารเป็นใหญ่บ้าง  หรือเป็นลักษณะเวทนาเป็นใหญ่ พอใจ-ไม่พอใจบ้าง

หรือเป็นลักษณะของจิต ฟุ้งซ่านกระจาย สภาวะจิตอย่างนู้นอย่างนี้บ้าง  และเป็นลักษณะของธรรมารมณ์ อารมณ์ดี-ไม่ดี อารมณ์ขุ่น อารมณ์ผ่องใสเบิกบาน กุศลธรรม อกุศลธรรมบ้างนี่

นี่คือช่องทางออกของจิตที่ออกไปปรุงแต่งขันธ์ ...อวิชชามันออกไปปรุงแต่งขันธ์ใน ๔ ฐานนี่แหละ


(ต่อแทร็ก 17/21  ช่วง 2)



วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 17/20 (2)


พระอาจารย์
17/20 (571231B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
31 ธันวาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 17/20  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้น กายน่ะเขาเป็นกลางโดยธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว... มีแต่ไอ้จิตนี่แหละ ที่ไม่ยอมเป็นกลางกับอะไรเลย  เพราะกิเลสมันเป็นเจ้าของการปรุงแต่งในการเป็นจิตนี้ออกมา

แต่ถ้าผู้ปฏิบัตินั้น...เอาจิตมามัด มาผูกไว้กับกาย  มายืนหยัด มาจับ มามั่น มาถือ มารักษา มาหมาย มาผูก มาแนบแน่น มาแน่วแน่...กับกายที่เป็นกลาง

จิตจะค่อยๆ ตั้งมั่นและเป็นกลาง  จิตจะค่อยๆ หนักแน่นและมั่นคงเฉกเช่นแผ่นดิน...เหมือนศีล

แต่ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นอยู่กับกาย จิตไม่ตั้งมั่นอยู่กับศีล จิตไปตั้งมั่นกับอารมณ์ที่กระพือออก ...จิตนั้นจะไม่มีวันเป็นกลาง  จิตจะมีแต่ความว่าพอกพูนซึ่งอารมณ์...ยาวไกลไปเรื่อยในอดีตและอนาคต

ยาวไปถึงที่สุดที่เรียกว่า ไม่มีลิมิทประมาณ ไม่มีขอบเขต นั่นเห็นมั้ยว่า ผู้มีศีลกับผู้ไม่มีศีล ต่างกันอย่างไร ...แล้วเราอยู่อย่างผู้ที่มีศีล หรือเราใช้ชีวิตอยู่อย่างผู้ที่ไร้ศีล

ผลที่ได้แตกต่างกันนะ ...ผู้ใดรักษาศีล ผู้นั้นจิตไม่เศร้าหมอง  นี่ อานิสงส์ของศีลนี่บอกไว้ชัดเลย ผู้ใดละเมิดล่วงเกินศีล ผู้นั้นจิตเศร้าหมอง

เห็นมั้ยว่า ศีลนี่ทำให้จิตไม่เศร้าหมองอย่างไร ...ถ้าผู้นั้นพาจิตมารักษากายปัจจุบัน รักษาให้อยู่กับศีลปัจจุบันไว้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จิตจะไม่เศร้าหมอง

จิตนั้นจะเป็นหนึ่ง จิตนั้นจะมั่นคง จิตนั้นจะตั้งมั่น จิตนั้นจะเป็นสัมมาสมาธิ...แน่วแน่ในธรรม ...ก็คือแน่วแน่ในศีล ...อยู่กับศีล อยู่กับธรรม

แล้วทำไมจะต้องให้มันอยู่กับศีลอยู่กับธรรม ...เพราะสมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา  ศีล-สมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา  สติ-ศีล-สมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา 

เมื่อมันอยู่กับศีลอยู่กับกาย เมื่อมันอยู่กับกายอยู่กับธรรม..ซึ่งเป็นปัจจุบัน ...มันจึงเกิดสภาวะสืบค้นตามความจริงกับศีลกับธรรมที่ปรากฏอยู่ ณ ปัจจุบัน

การสืบค้นความเป็นจริงกับปัจจุบันกายปัจจุบันศีล ไม่ได้สืบค้นด้วยความคิด ...มันสืบค้นโดยสมาธิ  ซึ่งแปลว่าขณะนั้นจิตมันหยุดปรุงแต่ง หยุดออกความเห็น หยุดสร้างบัญญัติ หยุดออกสมมุติภาษา

ธรรมที่อยู่เบื้องหน้า กายที่อยู่เบื้องหน้าสมาธิจิตตั้งมั่นนั้น...จึงเป็นกายแท้ กายเดิม  เป็นกายที่เป็นแก่นแท้แก่นเดิมของธรรม หรือเป็นรากเหง้าของกาย เป็นรากเหง้าของธรรม เป็นรากเหง้าของศีล

มันจึงค่อยๆ ชัดเจนในความเป็นธาตุแท้ของกาย ปราศจากอคติ...ไม่ว่าคตินั้นจะเป็นโทสะหรือราคะคติ ภยาคติ โมหะคติ ...แต่มันจะเห็นชัดเจนตามจริง ตามสภาพที่แท้จริงแห่งกาย แห่งธรรม อย่างไม่มีอะไรครอบงำ ปิดบัง หรือเจือปน

สภาพกายตรงนั้น ณ ขณะนั้น ท่ามกลางศีลสมาธิปัญญานั้น  จึงชัดเจนตามสภาพที่แท้จริงแห่งธรรม ...คือไม่ปรากฏซึ่งความเป็นตัวเราของเรา ตรงกายที่ตั้งตรงนั้นเลย

เป็นเพียงก้อนกองอาการหนึ่ง ที่เรียกว่าก้อนธาตุก้อนธรรม ไม่ใช่ก้อนชายหญิง ไม่ใช่ก้อนสัตว์บุคคล ไม่ใช่ก้อนเราเขา ...แต่เป็นเพียงแค่ก้อนธาตุก้อนธรรมที่ปรากฏอยู่ชั่วขณะเวลาหนึ่ง

เมื่อมันเห็นโดยศีลสมาธิปัญญา..ซ้ำซากๆๆ ...เห็นอะไร ...เห็นกายนี่แหละ เห็นศีลนี่แหละ เห็นปัจจุบันกาย เห็นปัจจุบันศีล..ซ้ำซากๆๆ อย่างนี้ ...มันจึงค่อยๆ เชื่อ เกิดทิฏฐิขึ้นใหม่

เมื่อเกิดทิฏฐิขึ้นใหม่ ความเห็นขึ้นมาใหม่ ...ทิฏฐิใหม่ความเห็นใหม่นี้ ท่านเรียกว่า...สัมมาทิฏฐิ คือปัญญารู้เห็นอันชอบ อันตรง อันควรแก่ธรรม

คือรู้เห็นว่า...กายนี้ไม่ใช่กายเรา ไม่ใช่กายของเรา  ว่ากายนี้ไม่ใช่กายชายกายหญิง ไม่ใช่กายสัตว์กายบุคคล ...เป็นเพียงก้อนวัตถุธาตุ

เนี่ย การรู้เห็นกายตามความเป็นจริงมากเท่าไหร่...การยอมรับกายตามความเป็นจริงก็มากขึ้นเท่านั้น ...มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยกัน..อย่างนี้ๆ 

ถ้ารู้เห็นกายตามความเป็นจริงน้อยเท่าไหร่ การยอมรับกายตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา...ก็น้อยลงอย่างนั้น เท่านั้น

ไม่มีคำว่าลักลั่น ไม่มีคำว่าเรียนลัด ไม่มีคำว่ามีบุญอุ้มสมนำพาให้เกิดการเร็วกว่า-ช้ากว่า ...ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองธรรม ลำดับธรรม ครรลองมรรค

เมื่อผู้ปฏิบัติเพียรซ้ำซากลงในที่เดียวที่เดิม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ...ไม่ละเลย ไม่หลงลืม ไม่หลีกหนี ไม่ออกจาก ไม่ห่างไกล..จากธรรมนี้กายนี้ ...ความรู้ที่แท้จริง...สัมมาทิฏฐิย่อมบังเกิด

เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิด ...สัมมาทิฏฐิย่อมไปแทนที่มิจฉาทิฏฐิ...คือความเห็นแต่เก่าก่อนที่ผิด แล้วยังถือว่ามี ว่าจริง ว่าใช่อยู่ อย่างนั้น...นั่นเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ

เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิด ย่อมไปแทนที่มิจฉาทิฏฐิในกาย...ที่เห็นผิดไปว่ากายเป็นเรา เป็นของเรา

เมื่อมันจางคลายจากมิจฉาทิฏฐิ ผลคือบังเกิดความถอดถอนซึ่งสักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิดว่ากายนี้เป็นตัวเราของเรา ...เนี่ย คือการถอดถอนสักกายทิฏฐิ อันเป็นผลจากมิจฉาทิฏฐิในกาย

เพราะนั้น อยู่ดีๆ นี่จะไปเพิกถอนสักกายทิฏฐิโดยไม่อาศัยกายเป็นที่อ้างอิง โดยที่ไม่อาศัยกายปัจจุบันเป็นจุดกำหนดสืบค้น แยบคาย มนสิการ ...มันจะออกจากสักกายทิฏฐิได้อย่างไร

จะไปรู้ที่อื่น จะไปตั้งสติอยู่ที่อื่น จะไปตั้งสติสมาธิอยู่กับที่อื่นสิ่งอื่น ที่นอกเหนือจากกาย นี่ แล้วมันจะคลายออกจากสักกายทิฏฐิในกายได้อย่างไร ...ไม่ได้

ได้ก็แต่ละเลิกกันแบบมั่วๆ หรือละเลิกกันแต่ปากเปล่า ...แต่ละไม่ได้จริงๆ  ก็ละได้ตามตำรา เหมือนตำราเป๊ะเลย ...แต่ความเป็นจริงละไม่ได้

มันจะละได้ยังไง ...ก็มันไม่เคยมารู้เห็นกายตามความเป็นจริง แม้แต่เป็นวันเป็นคืนเป็นเดือนเป็นปี แต่มาอ้างอิงว่ารู้กายบ้างบางขณะบางครั้งบางครา ...เสือกละได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นวรรคเป็นเวร เป็นบ้าเป็นหลัง

ทั้งๆ ที่มันดูได้...เดี๋ยวแป๊บนึง แล้วไปดูโน้น ดูอารมณ์ ดูจิต ดูความคิด ดูเกิดดับ ดูไตรลักษณ์ แล้วก็ว่า  “เฮ้ย สักกายกูหมดแล้วว่ะ” เอ๊อะ มันเก่งว่ะ แบบไปตีหัวคนอื่นแล้วว่าทำไมกูไม่ตายวะ เออ ประหลาด

เนี่ย ไปตีลม แล้วก็ว่า "เฮ้ย กูตายแล้ว" ...เออ มันตายกันง่ายดีนะ  ไปตีต้นไม้ใบหญ้า หวดแล้วหวดเล่าว่า "เฮ้ย ตายแล้วกู" ..เอ้า มันไปกินยาพิษที่ไหนมาวะ ...มันเป็นไปไม่ได้

เออ ถ้าเอามีดเอาไม้นี่ตีกบาลมึงเองน่ะ โป้งๆๆ ...เออ มันตาย...อย่างนี้น่าตายอยู่นะ ...แต่ไอ้นี่ไปวืดวาดๆๆ เหมือนรำลิเกน่ะว่า...กูตายแล้วๆ กูตายแล้วนะ เนี่ย

ถ้ามันไม่ปฏิบัติลงที่ศีล ลงที่กาย มันจะละสักกายได้อย่างไร หือ ...นี่ ถามตรงๆ กันเลย ไม่ใช่คำถามวกวนกำกวมแบบไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่เลยนะ 

ธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านชัดเจนและตรงไปตรงมา  ไม่มีเลศนัย ไม่มียอกย้อน ไม่มีมั่ว ไม่มีว่าเข้าข้างใคร หรือบุคคลใด ไม่มีติดสินบาตรคาดสินบนว่าอานิสงส์บารมีมันมากเหลือเกินให้มาก่อน

ท่านตรง ธรรมก็ตรง ตรงต่อธรรม ตรงตามธรรม ตามลำดับธรรม ...ไม่ได้งกๆ เงิ่นๆ  ลูบๆ คลำๆ  ลืมๆ บอดๆ  แล้วก็ว่า “หลุดแล้ว พ้นแล้ว” ...พยายามทำตัวเอง นึกถึงตัวเองว่าพ้นอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น

มันหลอก กิเลสหลอก ...อย่าเชื่อกิเลส อย่าเชื่อเรา อย่าเชื่อจิตเรา อย่าเชื่อความเห็นของใคร ...ต้องเชื่อด้วยศีลสมาธิปัญญาอย่างเดียวเท่านั้น ว่ามีศีล..โดยศีล มีสมาธิ..โดยสมาธิ มีปัญญา..โดยศีลสมาธิปัญญาหรือเปล่า

ถ้าไม่มีสักกระเบียดหนึ่ง สักองศาหนึ่ง สักทะนานหนึ่ง สักเม็ดหนึ่ง สักอณูหนึ่ง ...อย่ามาถาม อย่ามาตอบ อย่ามาหลอกตัวเองว่าเกิดผลแบบโคตรโชคดี...ไม่มีๆ

เออถ้าอยู่กับกายทั้งวัน เห็นกายทั้งวัน หลับยังฝันเห็นเราวิ่งหนี ยังรู้ตัวเลยว่าตัววิ่งหนีอย่างนี้  มีศีลสมาธิปัญญาอยู่ในกมลสันดานอย่างนี้ แล้วว่า “ผมละสักกายได้” ค่อยน่าเชื่อหน่อย...นิ๊ดนึง

แต่ถ้ามันตอบตัวเองไม่ได้ ...คือไม่เคยอยู่กับกาย ไม่เคยรู้กับปัจจุบันกายเลย  นั่งๆ นอนๆ เผลอๆ เพลินๆ สนุกกิน สนุกเล่น สนุกคุย ถกธรรม สนทนาธรรม เรียนรู้แต่ขึ้นสำนักนู้นออกสำนักนี้ ...มึงอย่ามาคุยว่าละได้

เออ ถ้ามันคร่ำเคร่งอยู่แบบไม่ลืมหูลืมตา ลืมเดือนลืมวัน  ยืนเดินนั่งนอนไม่ออกนอกเนื้อนอกตัว ไม่หาย ไม่ห่าง ไม่จาง ไม่เว้น ไม่ขาด ไม่กระท่อนกระแท่น ...โอ้ย มรรคผลน่ะประเคนให้เลย

มันหาคนทำอย่างนี้ได้รึยังล่ะ ถามตัวเองว่าทำอย่างนี้ได้รึยัง ...อย่าให้ความอยากมันกุมหัวใจ คลุมกายใจด้วยความอยาก เต็มไปด้วยแต่ความอยาก อยากมี อยากเป็น อยากเร็ว อยากด่วน

นี่ มรรคผลนิพพานไม่ใช่ฟาสท์ฟู้ด ที่มีเงินแล้วก็ไปซื้อเอา ไปจับจ่ายได้ตามตลาดนัด ...มันต้องลงทุนปฏิบัติ ...การปฏิบัติคือการลงทุน

ไม่ใช่งอมืองอตีน นั่งฝันหวาน นึกๆ คิดๆ แล้วมันได้มาเอง ลอยมาเหมือนกับราชรถมาเกย อย่างนั้น ...มีแต่สิบล้อมาชนน่ะไม่ว่า มีแต่ทุกข์มาชนเอา นี่


(ต่อแทร็ก 17/21)




วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 17/20 (1)


พระอาจารย์
17/20 (571231B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
31 ธันวาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ตั้ง...ให้มันตรงตั้งแต่แรก ตั้งแต่ก้าวแรกแห่งการปฏิบัติ  หรือถ้ามันเฉียงไปแล้ว ...ถอยหลังก็ไม่เสียเวลา แล้วมาตั้งให้ตรงเสียใหม่

ตั้งลงที่กาย ตั้งอยู่ที่ใจ ตั้งกายกับใจให้ตรงกัน  ไม่ล้ำกัน ไม่เกินกัน  ตั้งให้พอดีกัน..ทุกๆ ปัจจุบันไป ... กายอย่างไร..ใจอย่างนั้น  กายอยู่ไหน..ใจรู้อยู่นั้น

นี่เรียกว่าตั้งกายตั้งใจให้ตรง ...แล้วพยายามรักษากายใจนี้ให้ตรงต่อกันและกัน..สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ตลอดเวลา ...ด้วยความบากบั่น อดทน และพากเพียร

ไม่ต้องหวังไกล ไม่ต้องไปหวังอะไรข้างหน้า ...หวังอยู่ตรงนี้แหละ ปัจจุบันนี้แหละ..ว่าตั้งกายกับใจนี้ตรงกันไหม ...มันคลาดเคลื่อนกันรึเปล่า หรือมันคลาดเคลื่อนแล้วยังปล่อยให้มันคลาดเคลื่อนต่อไปอีก 

หรือว่ายังอยู่ในขั้นตอนที่...หากายยังไม่เจอ หาใจยังไม่รู้จักอย่างนี้ นี่ จะพยายามตั้งกายตั้งใจให้มันตรง....มันคงตรงให้สักชาตินึงละมั้ง

เห็นมั้ยว่า มันเป็นไปตามที่... ธรรม..สมควรแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ...ไม่ใช่ไปเอาธรรมคนอื่นมาปฏิบัติ

เพราะว่าในที่นี้ แต่ละคนนี่อยู่ในลำดับและปริมาณของสติศีลสมาธิปัญญา ไม่เหมือนกัน ...เราไม่รู้หรอก เราพูดแบบเหวี่ยงแห แล้วก็ไปประเมินตัวเองกันดู..เอาแบบไม่ต่ำ-ไม่สูงเกินจริงนะ ต้องตรงนะ

ซึ่งมันก็พอคร่าวๆ ได้ว่า... "ไม่ค่อยมีศีลว่ะ" ...อันนี้แน่ๆ (โยมหัวเราะกัน) ...สมาธิ-ปัญญาเราไม่พูดถึง..มาแบบกะปริบกะปรอยนี่เราไม่พูดถึงหรอก เพราะมันเป็นโรคนิ่ว...เป็นนิ่วในสมาธิปัญญา

แต่ที่โดยกิเลส ตามกิเลสนี่...ไหลโกรกเลย เหมือนกับไม่มีหูรูด ...แล้วเห็นดีเห็นงามไปกับมันด้วยนะ เยินยอสรรเสริญไปกับการไหลรูด ...ไม่มีการกั้น ไม่มีประมาณ ไม่มียับยั้ง

คือมันอยู่ในอาการที่เรียกว่า...ไม่คิด..ก็เผลอ...อยู่สองอย่างนี่  มันหมักดองอยู่แต่แค่..ไม่กูคิด..กูก็เผลอ ...นี่ไม่ได้ไปทำโพลหรอกนะ แต่มันจะเป็นอย่างนั้นเสีย ๙๙ เปอร์เซ็นต์น่ะ 

จะหาผู้ที่อยู่ด้วยศีลสมาธิปัญญาอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดนี่...เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ...ทำไมมันถึงยากขนาดนั้นล่ะ มันเพราะอะไรรู้ไหม 

หนึ่ง เพราะว่าผู้ลูบคลำในศีลและวัตร...เยอะเหลือเกิน ...แล้วก็ยังดันทุรังทำกันอย่างนั้นอยู่  แล้วเห็นดีเห็นงามไปตามๆ กัน

พอให้ละเลิกเพิกถอน อาการกระทำแบบลูบๆ คลำๆ ก็ไม่กล้า กลัวไม่เหมือนคนอื่น...บ๊ะ ทำไมไม่กลัวไม่เหมือนพระพุทธเจ้า แต่กลับกลัวไม่เหมือนคนอื่นไปอาศัยจมูกมันหายใจด้วยกันรึไง

ให้เชื่อมั่น ...เพราะนั้นมันจะเชื่อมั่นแค่ในความคิดนี่ไม่ได้ จะเชื่อมั่นโดยการฟังบ่อยๆ ก็ไม่ไหว เสียเงินนะ มานี่ หลายตังค์ มาบ่อยๆ หมดตัว ศีลสมาธิปัญญายังไม่ถึง มันหมดตัวก่อนนี่...ไม่ได้

มันต้องทำ ทำจนกว่ามันจะเกิดความมั่นใจ ...ไม่ว่าจิตมันจะขวาง จิตมันจะตั้งแง่ จิตมันจะสงสัย ...ก็แล้วเป็นข้ารับใช้มันรึไง อย่าไปฟังมันมั่งดิ

ลองทำ ตั้งใจทำ ...เบื้องต้นสำหรับคนที่ไม่เคยทำ ต้องลองทำ ...มาลองทำแล้ว ให้ตั้งใจทำ ทีละเล็กทีละน้อย อย่างไม่ท้อถอย ทุ่มเท ทุ่มใจ ทุ่มทุน ไปทีละเล็กละน้อย

แล้วก็เอาจนหมดหน้าตักน่ะ นั่นแหละ ความมั่นคงในศีล ความเชื่อมั่นในศีล ศรัทธาในศีล จะเกิดจนถึงขั้นที่เรียกว่า...อจลศรัทธา ไม่ใช่แค่ศรัทธาหัวเต่า

นี่ ที่มันไม่เกิดความศรัทธาในศีลเป็นอจละ ...เพราะว่าพวกเราปฏิบัติกันแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ... ใจดี..ทำ  ใจไม่ดี..ไม่ทำ ...ซึ่งส่วนมากมันใจไม่ดีมากกว่าน่ะ ในหนึ่งวันนี่ (โยมหัวเราะกัน)

มันก็จะบอกว่า “ใจไม่ดีทั้งวันเลย ไม่ไหว ไม่เอาล่ะ” แล้วมันก็เลยถือโอกาสไม่ทำเลยน่ะ เพราะว่าใจไม่ดีเลย อย่างนี้...ไม่ได้  มันต้อง...ดีก็ทำ ร้ายก็ทำ

อารมณ์ดีก็ต้องยิ่งทำใหญ่ อารมณ์ไม่ดีก็ต้องยิ่งทำใหญ่กว่านั้นอีก ...เวลามีอารมณ์นี่ เป็นเวลาสำคัญเลยที่จะต้องขวนขวายในศีลสมาธิปัญญา...ถึงขั้นที่เรียกว่า To die for เลย

นี่พอมีอารมณ์อะไรมากระทบหูกระทบตา แล้วอารมณ์ของกิเลสมันตอบสนองขึ้นมาปั๊บ ...ไม่ได้เรียกร่ำร้องเลย กูก็กระโดดโผเข้าไปกลืนกินแบบล้านเปอร์เซ็นต์ ชัดเจนยิ่งกว่าดาวเทียม PSI

แต่หาความชัดเจนในศีลสมาธิปัญญานี่ ...เอากล้องอิเล็กตรอนส่องนะ กูยังหาไม่เจอในมันเลย ไม่รู้มันเอาศีลสมาธิปัญญาไปไว้อยู่ในฟากฟ้าป่าหิมพานต์ที่ไหน

หูย แต่เวลาอารมณ์ดีนี่ ศีลสมาธิปัญญานะมาเป็นกอบเป็นกำเชียว ...อย่างนี้มันไม่สู้อ่ะ มันไม่สู้กับกิเลสกันเลย งอมืองอตีน ...เวลาอารมณ์เกิดนั่นน่ะคือเวลากิเลสเกิด

แล้วกิเลสมันจะเกิดตอนไหนล่ะ ก็ตอนกระทบ อายตนะ-ผัสสะ มันปฏิสัมประยุทธ์กันน่ะ ผัสสะ-อายตนะ ...แล้วมันมีเวลา มีตารางแน่นอนให้ไหมว่ามันจะปฏิสัมประยุทธ์กันตอนไหน เวลาไหนน่ะ

มันมาแบบไม่ค่อยคาดฝันหรอก ...เดี๋ยวก็เจอ เดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็ได้ยิน เป็นเหตุให้ต้องมีอารมณ์อยู่ตลอด ...แล้วก็บอกอยู่ตอนนั้นว่า “เดี๋ยวค่อยทำๆ ให้มันผ่านไปก่อนค่อยทำ” 

มันก็ไม่เห็นผ่านน่ะ ...ผัดวันประกันพรุ่ง คอยต่อรอง ให้กิเลสต่อรอง ...แล้วก็ยอมรับการต่อรองของมันอยู่ตลอด ไม่คอยแข็งขืน ฝืน ทวน ไม่ฮึด ไม่มีลูกฮึด

ทั้งๆ ที่ว่ากายใจนี่ เขาพร้อมที่จะให้ขุดค้นสร้างศีลสมาธิปัญญามาเป็นที่มั่น ที่อาศัย ที่หยุด ที่อยู่ ที่ยั้ง ...มันก็ไม่บังเกิดความขวนขวายในธรรม ไม่ขวนขวายในศีลสมาธิปัญญา

เพราะนั้นน่ะ เวลาตรงนั้นมันเป็นเวลาที่สำคัญ เวลาที่กิเลสมันก่อตัวกำลังเกิดขึ้น กำลังลุกโหมกระพืออยู่นั่น เป็นเวลาที่ต้องละกิเลสอย่างยิ่งยวด ...ไม่ใช่ไปทำตามกิเลสก่อนแล้วค่อยละ

มันพูดกันง่ายๆ “เดี๋ยวให้หมดอารมณ์นี้ก่อน” ...คือด่าเขาไปแล้วน่ะ แล้วค่อยไป “เออ รู้ตัวๆๆ” ...เนี่ย อย่างเนี้ยไปนอนซะไป ...คือถ้าภาวนาไม่เอามาใช้ตอนที่มีกิเลส มันจะเอาไปใช้ตอนหลับหรือไง หือ

ก็ภาวนามาทั้งหมดก็เพื่อจะชนะกิเลส แล้วให้ประเมินกำลังของกิเลสได้ ว่าศีลสมาธิปัญญากับกิเลส อันไหนแน่กว่ากัน อันไหนแข็งแรงกว่ากัน อันไหนชนะ อันไหนพ่ายแพ้

แต่ถ้าไม่ทำเลย มันจะรู้ไหมเนี่ย ว่าศีลสมาธิปัญญาของตัวเองน่ะ...มันต่ำต้อยติดดินขนาดไหน ...เพราะอย่างเนี้ย มันก็เกิดการประเมินตัวเองผิด

เพราะนั้นว่า...ศีลสมาธิปัญญานี่ ทุกคนมีที่ตั้งแห่งศีลสมาธิปัญญาอยู่แล้ว ...แต่ไม่เอามาใช้ และไม่รู้จักนำมาใช้  มันจึงกลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา

เรียกว่าเหมือนพิกลพิการต่อการทุบถองของกิเลส การวางก้ามใหญ่โตของกิเลส...โดยไม่สามารถ และไม่แม้แต่จะคิดลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อกรกับกิเลสเลย

เช่นว่า...เวลาภาวนาก็จะต้องหาที่สัปปายะ ...ถ้าทำงานอยู่ หรือถ้าอยู่กับคนหลายๆ หรือถ้าระหว่างมีอารมณ์ อย่างนี้แล้วจะภาวนาไม่ได้เลย ...เพราะมันไม่สัปปายะ

จะต้องไปอยู่ในที่แวดล้อมที่เป็นมงคล มีกัลยาณมิตร ไม่พูดเสียดแทงใจกู ไม่พูดธรรมผิดประเภทจากกู
...เหล่านี้คือการที่ยิ่งกระทำ ยิ่งปล่อยให้มันกระทำอย่างนี้ ...คือความแคระแกร็นในศีลสมาธิปัญญา

ต้องตั้งกายขึ้นมา ตั้งรู้ขึ้นมากับกาย ณ บัดนั้น ณ ที่นั้น...ท่ามกลางอารมณ์ ท่ามกลางความรู้สึกที่ดีและร้ายของเรา ท่ามกลางความพึงพอใจ-ไม่พึงพอใจของเรา...ขณะนั้น ต้องตั้งขึ้นมาให้ได้

และให้ได้อย่างแข็งแรงยิ่งขึ้นไป ...แข็งแรงขนาดที่กิเลสมันตั้งขึ้นไม่ได้น่ะ คืออารมณ์ไม่สามารถจะตั้งหรือก่อร่างสร้างตัวมันขึ้นมาได้ นี่...จึงจะค่อยๆ เข้าใจความเป็นจริง จึงจะเกิดความกระจ่างในธรรม

เพราะฉะนั้น การอยู่โดยศีลสมาธิปัญญานี่ การปฏิบัติอยู่บนเส้นทางของมรรคนี่  คือการที่เรียกว่า...ไม่แก้-ไม่หนี ...เป็นการเผชิญหน้ากัน..กับทุกสิ่ง ทุกอาการ 

เรียกว่าไม่เลือก ไม่เฟ้นหาเฉพาะธรรมใดธรรมหนึ่งเท่านั้นที่มาเรียนรู้ ...มันจะเรียนรู้โดยตลอดทุกธรรมไป..โดยถือธรรมที่เรียนนั้น เป็นทุกปัจจุบันธรรม

เพราะฉะนั้นนี่...ฝึก..จนฐานของศีลนี่ มั่นคงแข็งแรง ...แข็งแรงขนาดไหน ...ขนาดเสมอเท่าแผ่นดิน นี่ เป็นรากฐาน เป็นรากเหง้า ที่รองรับธรรม

ที่ว่าศีลเหมือนแผ่นดินนี่ หมายความว่า...ไม่ว่ากิเลสตัวใด ทั้งภายในและภายนอก...ภายในคือตัวเจ้าของ ภายนอกคือจากบุคคลอื่น นี่...มันจะร้ายแรง รุนแรง เผ็ดร้อน แสบร้อน รับไม่ได้อย่างยิ่งขนาดไหน

แต่ด้วยความแข็งแกร่งของศีลเท่าแผ่นดิน...รองรับได้หมด ไม่คณนา ไม่ยี่หระเลย ...นั่นแหละ ถึงบอกว่า ทำไมต้องสร้างฐานของศีลให้แข็งแรงมั่นคงที่สุด แข็งแกร่งที่สุด ...ศีลจะไม่มีความหวั่นไหวเลย 

อย่างพวกเรานั่งอยู่อย่างนี้ แต่ละคนนี่ แล้วจับความรู้สึกของกายไว้ หนาวบ้างแข็งบ้างนี่แหละ ตึง แน่น หนัก ...นี่ คืออาการโดยรวมส่วนใหญ่ที่ชัดที่สุดของกาย ในท่าทีอิริยาบถนั่งจะชัดเจนอย่างนั้นน่ะ

มีตึง เป็นขมวดปมตรงเข่า ตรงก้นกระทบพื้น แล้วก็หลังที่เหยียดรับน้ำหนักของมวลธาตุ ...มันจะมีความรู้สึกอย่างนี้ เป็นแกน เป็นพื้น นี่คือกาย นี่คือศีล นี่คือปกติกายปกติศีล

เพราะนั้น...ถ้าสมมุติว่ามีคนใดคนหนึ่ง หรือว่าเรานี่มาพูดมาด่าว่า...ไอ้ที่นั่งมาทั้งหมดนี่ หน้าหมา เลวมาก ...เห็นมั้ย อะไรที่กระเพื่อม...จิต ...แล้วอะไรที่ไม่กระเพื่อม...ศีลหรือกาย

เห็นมั้ย กายก็ยังแข็ง ตึง แน่น หนัก เท่าเดิมเท่าเก่า แบบเดิมแบบเก่า ไม่ขึ้น-ไม่ลง ...แต่จิตจะโยกไปมา กระพือไปกระพือมา 

ถ้าชมมันก็หยาดเยิ้มด้วยความสุข อิ่มเอิบ เปรมปรีด์ ...ถ้าด่า มันก็จะรู้สึกหดหู่ เศร้าหมอง ขุ่นมัว อึดอัด คับแค้น เป็นทุกข์


แต่กายยังเหมือนเดิม เป็นกลางแบบเดิม ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับคำพูดเหมือนเดิม ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย


(ต่อแทร็ก 17/20  ช่วง 2)