วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 17/1 (1)



พระอาจารย์
17/1 (571201A)
1 ธันวาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ในวัด ...มันก็วุ่นวายกันเต็มวัด

โยม –  ค่ะ หลวงพ่อท่านให้อยู่กับความวุ่นวาย แล้วให้เป็นปกติในความวุ่นวาย  หลวงพ่อท่านจะเน้นเรื่องเมตตาเสียสละ 

พระอาจารย์ –  นั่นธรรมชั้นสูง มันเป็นธรรมชั้นสูง  มันไม่ใช่ทำกันได้ง่ายๆ ...ยาก

ถ้ายังผูกจิตไม่อยู่ แล้วมันมีช่องทางไปมาอยู่ตลอด ...มันจะได้อะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันหรอก มันก็ได้แค่ทรง...พอให้ไม่เร่าร้อนแค่นี้

การที่มันจะได้ผลจริงๆ นี่  จิตนี่มันต้องอยู่...อยู่แบบไม่ไปไม่มาเลย  สตินี่จะต้องคุมจิตในระดับที่เรียกว่าไม่คลาดเคลื่อน ...เพราะนั้นว่า มันต้องมีช่วงเวลาที่ว่า...ต้องไม่คลุกคลี


โยม –  ตอนนั้นมันเหนื่อยมากเลย

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ให้อยู่ตรงนั้นแหละ (หัวเราะกัน)


โยม –  เคยกราบเรียนหลวงพ่อท่านค่ะ ว่าที่ออกจากบ้านมานี่หวังพ้นทุกข์ ไม่ใช่จะมาอยู่กับอย่างนี้ เรื่องที่ต้องอยู่ทั้งวี่ทั้งวันอย่างนี้นี่  

ทีนี้หลวงพ่อก็ว่า ทำไมคิดอย่างนี้ล่ะ จะไปเดินจงกรมทั้งวัน นั่งสมาธิทั้งวัน หลวงพ่อก็ไม่ได้ว่า  แต่ว่ามันจะเป็นสมาธิที่แห้งแล้ง ไม่ชุ่มชื่น  แต่นี้ทำไปๆ ก็ข้อดีมีประโยชน์มันก็มีนะคะ เพราะคิดว่าทุกอย่างมันไม่มีดีทั้งหมด ไม่มีเสียทั้งหมด มันต้องมี..ไอ้ที่เสียก็มีดี ไอ้ที่ดีก็ต้องมีเสีย  

แต่ก็ยังกราบเรียนหลวงพ่อท่านไปว่า ยังไงก็ยังไขว่คว้า เพราะว่าฝึกเริ่มมาจากอยู่ป่า ชอบวัดป่าที่เป็นวัดเงียบๆ ไม่มีไฟ  ฝึกแบบนั้นมา และก็ยังไขว่คว้าที่จะอยู่อย่างนั้น  แต่หลวงพ่อท่านก็จะยกตัวอย่างว่า ที่ทำมามันมีโอกาสเพี้ยนได้ เท่าที่คนอื่นเขาทำนะฮะ  

แต่เราก็บอกว่า คือเห็นจิตที่ส่งออกนอก คือถ้าจิตไม่ส่งออกนอกนี่ อยู่กับกาย รู้กาย รู้อะไรอย่างนี้อยู่ ไม่ไปปรุงไปแต่งตามที่เราเห็น อะไรอย่างนี้ เราก็ฝึกมาแล้วนะคะ  คราวนี้มาฝึกในส่วนนี้ มันก็ฝึกนิสัยตัวเองซึ่งปกติแล้วจะไม่เอาใคร มันก็จะมาได้ตรงนี้ที่ว่าหัดเข้ากับคนได้ หัดที่จะยอมหรืออะไรอย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  อย่าไปย่อหย่อน ทำยังไม่ถึง เขาเรียกว่ายังไม่สุกงอม แล้วก็ไปรามือ ...คือกิเลสนี่ อ่อนข้อให้ไม่ได้


โยม –  จริงค่ะ

พระอาจารย์ –  ถ้าจะไปบอกว่า...เออ เปิดโอกาสให้มันหน่อย มันจะได้เรียนรู้เรื่องการไปการมาของกิเลส ของนิสัย ของวาสนาของเรา จะได้ละไปทีละเล็กทีละน้อย...นี่ เสร็จ...เอาไม่อยู่หรอก

มันถูกตั้งแต่ต้นแล้ว อยู่กับกายไว้...ไม่ให้จิตออกเลย ...แล้วก็บีบอยู่อย่างนั้นน่ะ..กิเลส  บีบให้มันอยู่ข้างในนั้นน่ะ เหมือนกับต้อน ต้อนให้มันอยู่จนมุมน่ะ ไม่ให้มันออกมาได้เลย

ไม่ให้จิตนี่ได้เคลื่อนออกได้เลย แล้วก็บ่มอยู่อย่างนั้นน่ะ บ่มอินทรีย์อยู่อย่างนั้น ฝืนจิตอยู่อย่างนั้น ...อยู่อย่างนั้นน่ะ คุมอยู่อย่างนั้น ไม่ให้กิเลสมันอ้าปากลืมตาได้

ทีนี้ พวกเรานี่ มันจะมีจิตหนึ่งที่มันคอยสอดขึ้นมาอยู่ตลอดว่า มันเกินไปมั้ง มันจะผิดมั้ง มันจะเพี้ยนมั้ง มันจะติดนะ พวกนี้  หรือไปให้คำแนะนำมานี่ ...ให้มันผ่อนออก

พอผ่อนออกปึ้บนี่ กิเลสมันได้ช่อง จิตออกไป..ก็อ้างว่าได้เกิดปัญญา ได้เกิดการเรียนรู้ไป ...สุดท้าย สิ่งที่ควรจะรู้ สิ่งที่ต้องรู้...มันก็กลับไม่รู้  สิ่งที่ควรละ สิ่งที่ต้องละ...มันกลับไปรู้ ...มันตรงข้ามกันนะ

สิ่งที่ควรรู้ ต้องรู้ นี่คืออะไร...คือกาย  สิ่งที่ควรละ ต้องละ คืออะไร...คือจิต ...มันกลับปล่อยให้จิตออกแสดงอาการ แล้วก็ไปไล่ดูอาการของจิต..ว่ามันจะเป็นอารมณ์ มันจะเป็นกิเลสยังไง..เพื่อศึกษา 

ศึกษาไปเหอะ ไม่มีวันจบ ไม่มีวันจบหรอก ... มันจะต้องมาจบ...เบื้องต้นนี่...ต้องมาจบที่กายก่อน มันจะต้องมาทำความแจ้งในกายให้ได้ก่อน 

เพราะว่าจิตกิเลสนี่...มันมาถือกายตัวนี้เป็นหลัก เป็นตัวใหญ่ คือเป็น “ตัวเรา” ตัวหลักเลย ...กายเรา ตัวเรา ความรู้สึกที่เป็นเรา ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ตัวกาย

นี่ มันติดกายมากที่สุด ติดความเป็น "กายเรา" นี่มากที่สุดเลย  แล้วมันก็รู้สึกว่ากายนี้...ทั้งหมด...ทุกความรู้สึก ทุกองคาพยพ ทุกความรู้สึกสัมผัสที่ผ่านกายทั้งหมดเลยนี่ 

ไม่ว่าจะเป็นตาที่เห็นรูป หูที่ได้ยินเสียง ลิ้นที่ได้รับรส จมูกที่ได้กลิ่น แล้วก็เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่ได้สัมผัส ...มันสัมผัสลงมาตรงกายตรงไหน ที่ไหน เวลาใด ขณะใดนี่...มันบอกว่าเป็นเรื่องของเราหมดเลย

เพราะนั้นจุดใหญ่ใจความเลยนี่..ที่จะต้องละ ต้องแจ้ง ต้องทำความกระจ่างก่อน...คือกาย ...ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา ไม่เป็นเราอย่างไร ว่ากายนี้ไม่ใช่สัตว์บุคคลอย่างไร ว่ากายนี้ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่หญิงอย่างไร

มันจะต้องมาพิจารณาตรงนี้ให้มากที่สุด แล้วก็แน่วแน่อยู่ในกายนี่ โดยที่ไม่ให้จิตนี่ออกนอกกายนี้ได้เลย ต้องเลี้ยง ต้องเลี้ยงจิตไว้อยู่ภายในอยู่อย่างนี้ตลอดเลย

มันจึงจะค่อยๆ กระจ่างในความเป็นจริงของกาย...ว่าสักแต่ว่ากาย ว่าสักแต่ว่าธาตุ ว่าสักแต่ว่าสิ่งหนึ่ง ว่าสักแต่ว่าอาการหนึ่ง ...ทำความกระจ่างอย่างนี้

มันจะเห็นแล้วเห็นอีก เห็นแล้วเห็นอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนี้ ...เรียกว่าบ่มปัญญา บ่มศีล บ่มสมาธิอยู่ในที่อันเดียวนี่ ไม่ให้คลาดเคลื่อนออกไปได้เลย

ซึ่งมันต้องใช้เวลา มันไม่ใช่ว่าวัน-สองวันอยู่ แล้วมันจะยอมเชื่อว่ามันไม่ใช่เรา ...มันต้องใช้เวลาต่อเนื่องมาเลย

แต่เมื่อใดที่มันย่อหย่อน เกิดความย่อหย่อน หรือคลายออกว่า...เออ พักไว้ก่อน หรือว่าไปทำกิจธุระการงานภายนอกก่อน ...กิเลสนี่มันจะฟื้น..ฟูขึ้นเลย ฟูออกไป 

มันก็พุ่งออกนอกไปเลย ไปในกิจธุระการงาน ...มันละเลย มันเกิดความละเลยต่อการรู้เห็น...ในความเป็นไปของกายปัจจุบัน

จิตที่มันออกนอก มันก็ออกนอกไปพร้อมกับความหมายมั่น พร้อมกับกิเลสความเป็นตัวเรา อารมณ์เรา เรื่องของเรา อยู่ตลอดเวลา

มันก็เหมือนกับไปได้สุข ไปได้ทุกข์ ไปหาสุข ไปหาทุกข์ ไปหาประโยชน์จากความคิด จากอารมณ์ ...แล้วมีเราเป็นผู้เสพเสวย ใช่มั้ย

ถ้ามันมีเราเป็นผู้เสพเสวยอยู่นี่...ว่าดี  เออ ว่าเป็นบุญ ว่าเป็นการเรียนรู้ แล้วเราได้..เราได้ ...เห็นมั้ย เห็นไหมว่ามันมีใครได้ มันมีความเป็นเราได้

เรานี่...ที่มันได้น่ะ ได้อารมณ์ที่เป็นความพึงพอใจ ทั้งทางโลกและทางธรรม ...แล้วไอ้อารมณ์ที่ได้กับเรานั่นน่ะ มันคืออาหาร..อาหารของ "เรา"  อาหารของความรู้สึกที่เป็นตัวเรา

ถ้าเรายังไปปล่อยให้มันหาอาหาร ได้อาหารมา...คือความสุข ความพอใจ แล้วเราได้ประโยชน์

ไอ้ตัวเรานี่...ที่มันควรจะหมดกำลัง อ่อนกำลัง แล้วก็หมดสิ้นไปนี่ ...มันกลับได้อาหาร มันก็มีแรง ทำให้เกิดความแข็งแกร่งในความเป็นตัวเราขึ้นโดยไม่รู้ตัวเลย

นี่โดยไม่รู้ตัวเลยนะ โดยมันอ้างบุญ เข้าใจมั้ย อ้างบุญ อ้างสงเคราะห์ผู้อื่น อ้างเพื่อครูบาอาจารย์...ทุกอย่างน่ะมันอ้างได้หมด ทำไป อาจารย์สั่งบ้าง อะไรบ้าง ...มันจะเป็นอยู่อย่างนี้

แต่ว่าไอ้กิจที่พึงกระทำน่ะ ไอ้ที่ควรรู้ ต้องรู้  ไอ้ที่พึงละ ต้องละ... ละความเห็นผิดในกาย รู้ความเป็นจริงของกาย ...มันไม่ทำ มันไม่ทำแบบต่อเนื่อง

พอมันทำไปแล้ว กำลังแห่งความเพียรในศีลสมาธิปัญญามันไปไม่ถึง มันไปถึงขีดระดับหนึ่งก็.. "เบื่อ เซ็ง ไม่ได้อะไร" แล้วก็คลายออก ...อย่างนี้เขาเรียกว่าย่อหย่อน

เพราะนั้นศีลสมาธิปัญญามันก็เกิดภาวะที่เรียกว่าไม่ปะติดปะต่อน่ะ มันไม่เกิดความต่อเนื่องน่ะ มันไม่เกิดความต่อเนื่อง เนี่ย มันหย่อน มันคลาย..คลายมือ

แล้วคราวนี้ว่า...ลึกๆ ขณะที่รู้ตัวอยู่นี่ อย่างรู้ว่ากายกำลังยืน กำลังหมุนกำลังหันอยู่นี่ ...ลึกๆ นี่มันก็มีความเป็นเราแฝงอยู่ทั้งนั้นแหละ เข้าใจมั้ย ไม่ใช่ว่ามันหายไปไหนนะ 

เพียงแต่ว่า “เรา” น่ะ มันลืมตาอ้าปากไม่ได้ด้วยอำนาจศีลสมาธิปัญญา เพราะนั้นพอหย่อนลงเมื่อไหร่ปั๊บ มันขึ้นหน้าเลย มันเอา “เรา” ขึ้นหน้าเลย แล้วกายนี่อยู่ข้างหลังเลย ...มันทับซ้อนขึ้นมาอย่างนี้

แต่ถ้าเรามีความพากเพียรอยู่นี่ แม้มันก็ลึกๆ มี “เรา”  แต่ว่ากายใจ กายกับรู้นี่ มันอยู่ชัดเจนกว่า ...ตรงนี้ที่เรียกว่า เข้มแข็งในศีลสมาธิปัญญาอยู่เสมอ

และให้สังเกตดู ถ้าจะให้เข้มแข็งในศีลสมาธิปัญญาด้วยความต่อเนื่องเสมอนี่ แล้วไปทำงานภายนอกคู่กัน ...ให้สังเกตดู มันทำได้มั้ย ...มันจะทำสองงานพร้อมกันไม่ได้ มันพร้อมกันไม่ได้

จะเอาดีทางธรรมก็ไม่ได้อย่างเดียว  จะเอาดีทางงานภายนอกก็ไม่ได้อีก มันจะลักลั่นกัน มันเกิดความลักลั่นกัน ...ทีนี้มันก็เลยเกิดภาวะที่ว่าไม่แล้วเลิก มันไม่แล้วใจน่ะ

ลึกๆ มันก็คาข้องอยู่อย่างนั้นน่ะ จะสลัดก็ไม่ออก จะเลือกทางใดทางหนึ่งก็ไม่กล้าเลือก อะไรอยู่อย่างนี้ ...มันก็เลยเป็นเหมือนหมุนหันรีหันขวางอยู่อย่างนั้น

เนี่ย คือที่เรียกว่าเนิ่นช้า นี่คือความเนิ่นช้าในธรรม ความเนิ่นช้าในการปฏิบัติ ...เราไม่แนะนำหรอกให้ทำงานไปด้วย ภาวนาไปด้วย


โยม –  มันก็จริงน่ะค่ะ ทำไปมันก็ขัดแย้งไป แต่ว่าจะมีปัญหาเรื่องสถานที่ว่าไม่รู้จะไปตรงไหน

พระอาจารย์ –  คือหาโอกาสบอกท่าน หาโอกาสปลีกตัวบ้าง ห้าวันเจ็ดวัน อะไรอย่างนี้  ต้องมีช่วงที่หยุด ไม่ยุ่งกับหน้าที่การงาน หรือว่าช่วยเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่ว่าละเลยทีเดียว

แต่ว่าการภาวนานี่ ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ...หมายความว่าการตั้งใจใส่ใจที่จะไม่คลุกคลีต้องเป็นอันดับหนึ่ง ไม่พูด ไม่คุย ไม่เห็น แล้วจะต้องไปอยู่ในที่ที่มันห่างไกลจากสังคม ไม่ว่าจะสังคมโลกหรือสังคมในวัด


(ต่อแทร็ก 17/1  ช่วง 2)