วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 17/38


พระอาจารย์
17/38 (580110G)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10 มกราคม 2558


โยม –  ท่านเจ้าคะ ไอ้ตัวจิตสังขารที่มันเป็นจิตปรุงแต่งคล้ายๆ ธรรมนี่น่ะค่ะ มันจะเป็นลักษณะความกระหยิ่มยิ้มย่อง ความภาคภูมิใจ อย่างนั้นใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ


โยม –  ก็ต้องเฝ้าคอยระมัดระวัง

พระอาจารย์ –  ดูเฉยๆ ...ก็มี ไม่ได้ไปห้ามอะไรมันหรอก ...ให้เห็น แล้วก็อย่าไปหลงระเริงกับมัน เดี๋ยวมันก็เห็นความเสื่อมไป สลายไป ดับไป


โยม –  เมื่อกี้ตอนอยู่ข้างนอก มันก็ยืนพื้นดูในกาย ขออภัยเจ้าค่ะหลวงพ่อ อันนี้พูดถึงเรื่องธาตุขันธ์นะเจ้าคะ คือเราก็เห็นความเมื่อยที่เท้า ไล่ขึ้นมาน่อง แล้วมันก็เป็นปวดท้องแบบผู้หญิงน่ะเจ้าค่ะ แล้วก็ไล่ขึ้นมา 

คือมันก็เห็นว่า เหตุแห่งกายนี่ ที่เราไปยึดมั่นอย่างนี้ มันจึงมีชายมีหญิง เมื่อชายหญิงนี่ มันนำมาด้วยกายนี่มันจึงทำให้เกิดเป็นเราเป็นเขาน่ะ มีรูปก็ยึดรูปเรา แล้วมันก็ยึดไปหมดทั้งของเราสารพัด 

กระทั่งทั้งหมดนี่ มันเป็นอย่างนี้มันมีแต่ความยึดโยง...ทางไหนล่ะที่มันจะหลุดจากความยึดโยง ...ก็เหมือนมันย้อนสืบกลับมา อยู่ที่บนนี้ บนพื้นฐานของกายกับใจ 

มันก็เลยมีปุ๊บขึ้นมาหนึ่งคำ เพราะฉะนั้นน่ะมันจึงต้องอินทรีย์สังวร สำรวมอินทรีย์อยู่ที่กายนี่ มันก็...เออ ให้ดำเนินอยู่ในนี้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ รวมธรรมให้เป็นหนึ่ง รวมศีลให้เป็นหนึ่ง ตรงนี้คือต้นตอสาเหตุของขันธ์ ต้นตอสาเหตุของกิเลส...อย่างหยาบ คือกายนี่

ถ้ามันรวมตรงนี้ มันก็แก้ความเห็นผิดที่กิเลสมีกับกายนี้ไป...ว่ามันไม่ใช่เรา มันเป็นธาตุ ธาตุคือธาตุ ไม่ใช่เรา ธรรมคือธรรมไม่ใช่เรา ...ให้มันเห็นลงไป เงียบๆ ลงไป

เพราะนั้นไอ้คำอธิบายในธรรมอะไรพวกนี้ มันก็เป็นองค์ประกอบ เข้าใจรึเปล่า ...แต่ไอ้การรู้การเห็น ความเข้าใจจริงๆ มันลึกซึ้งอยู่ในนั้น

แต่ไอ้ความเห็นนี่เป็นแค่สมมุติบัญญัติ พากย์ประกอบเท่านั้นเอง เพื่อให้เกิดความชัดเจนตามบัญญัติสมมุติ ตามที่อ่านที่ได้ยินมา เพื่อให้มันตรงตามบัญญัติตามสมมุติ ต่อธรรม

เพราะนั้นไอ้สมมุติบัญญัติ บางทีที่อ่านแล้วเข้าใจ มันไม่ตรงกับธรรม  แต่ตอนนี้สมมุติบัญญัติที่มันประกอบขึ้นมานี่ มันตรง เป็นสมมุติบัญญัติที่มันตรงต่อธรรม ...แล้วมันก็ทิ้งไป แค่นั้นเอง

แต่ไอ้ความรู้เห็นภายใน ลึกซึ้งภายใน เกิดความเป็นผล...เข้าใจ แยบคาย ปล่อยวาง ละคลายนี่ มันเป็นปัจจัตตัง


โยม –  มันเห็นอย่างนี้ คือถ้าเราออกจากกายใจ ไปอยู่กับขันธ์ แม้เพียงนิดนี่ ภพเกิด มันก็เลยเรียนรู้กลับเข้ามาว่า ถ้าไปอยู่กับภพน่ะ เกิดอีก มันก็กลับมาอยู่แค่นี้สิ แล้วก็ที่หลวงพ่อย้ำในวันนี้อีก มันก็เห็นชัดขึ้นเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  สลายภพ สลายชาติ สลายขันธ์ ...ถ้าสลายขันธ์น่ะ ภพก็สลาย ชาติก็สลาย  ถึงไม่สลายมันก็อยู่แบบบางๆ ยืนเหยียบหยัดไม่ได้นาน ...จนกว่ามันจะสิ้นภพสิ้นชาติ

ตอนนี้ก็ภพชาติมันยังมี ก็ค่อยๆ สลาย ...แต่ต่อไปนี่ ไม่มีภพให้สลาย คือมันสิ้นภพจบชาติ นั่นก็เรียกว่าที่สุด ขันธ์ห้าไม่สามารถมาสร้างภพสร้างชาติ ให้มีเป็นเราขึ้นมาในภพชาติได้

กิเลส...บอกแล้วว่ากิเลสมันใช้ขันธ์ห้าเป็นเครื่องมือ ถ้าไม่มีขันธ์ห้ามันสร้างภพไม่ได้ สร้างเราไม่ได้ ...ถ้าอยู่กับกายใจล้วนๆ นี่ ภพชาติเกิดไม่ได้เลย

เป็นธาตุ ธาตุคือธาตุ เกิดตรงไหน ตั้งตรงไหน ดับตรงนั้น จบ มันจบอยู่..ทุกปัจจุบันๆ ไป ...ส่วนใจนี่ไม่มีวันจบคือไม่เกิดไม่ดับ

จนกว่าอวิชชาที่มันห่อหุ้มใจนี่ หมด หมดปุ๊บนี่ ตัวที่บิดเบือนธรรมก็หมด ตัวที่สร้างขันธ์ไปบิดเบือนธรรมนี่หมด อวิชชาหมดเมื่อไหร่ ขันธ์ก็หมดเมื่อนั้น

ไม่มีอะไรไปบิดเบือนธรรมแล้ว ทุกการรู้ทุกการเห็นก็ตรงต่อธรรมแบบไม่มีคลาดเคลื่อนเลย นี่ เป็นผู้ตรงต่อธรรม รับรู้ธรรมโดยตรง

ไม่งั้นมันถูกขันธ์มันหลอก คลุม แล้วก็บิดเบือน เป็นนั้นเป็นนี้เป็นโน้น เป็นชายเป็นหญิง เป็นดีเป็นร้าย เป็นถูกเป็นผิด เป็นสวยเป็นงาม เป็นไม่สวยไม่งาม พวกนี้มันบิดเบือนไปขันธ์หมด

กิเลสมันบิดเบือน พอบิดเบือนปุ๊บมันก็หมายเป็นอารมณ์ขึ้นมาตามที่มันบิดเบือน สวยงามก็เป็นพอใจ ไม่สวยก็เป็นไม่พอใจ ...มันก็หมายนี่เป็นอารมณ์ขึ้นมา กิเลสก็เกิดขึ้น

เพราะนั้นกิเลสจะเกิดในขันธ์ ไม่เกิดในกายใจ ...มีขันธ์เมื่อไหร่ กิเลสอยู่ในนั้น เป็นกองกิเลสเลยล่ะ กองขันธ์นี่น่ะกองกิเลสเลยแหละ กองเดียวกัน 

มันอยู่ด้วยกัน อาศัยกัน เป็นปัจจยาการเนื่องกัน ปฏิจจสมุปบาทคือขันธ์ห้านั่นแหละ

ขันธ์ห้าเป็นทุกข์ ไม่ต้องไปดูอะไรเลย ละเลย ไม่ต้องไปพิจารณาอะไรเลย รู้ว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์ ละเลย วางเลย ...วางแล้วดับก็ดี วางแล้วไม่ดับก็ช่าง วางก่อน อย่าไปยุ่ง

แล้วมาถือศีลถือกายไว้ ยึดไว้ เหนี่ยวไว้ รั้งไว้ เกาะกุมไว้ กอดกุมไว้ ปักหลักความมั่นคงไว้ นั่นล่ะ ขันธ์ห้ามันก็เริ่มหลอกยากขึ้นแล้ว ...เอ้า ทำไปเหอะ

(ถามโยมอีกคน) นี่มาจากเมืองนอกรึเปล่า กลับวันไหน


โยม –  กลับวันที่สิบสามค่ะ ...อยากถามพระอาจารย์สั้นๆ ว่า เพิ่งเริ่มปฏิบัติค่ะ ท่านอาจารย์เห็นว่าจะมีอะไรแนะนำบ้างคะ

พระอาจารย์ –  ไม่มีอะไรหรอก เตือนตัวเองบ่อยๆ อย่าล่องลอย อย่าปล่อยล่องลอย อย่าไปนั่งคิดพิจารณาอะไร ...ใช้ความคิดให้น้อย อยู่กับเนื้อกับตัวให้มาก

น้อมกลับมา ถามตัวเอง “ทำอะไรอยู่” บ่อยๆ ...การที่ถามตัวเองนี่เป็นอุบายเจริญสติในกาย ให้ถามบ่อยๆ แล้วให้กลับมาเห็นรูปทรงตัวเอง ท่วงท่า ท่าที

ส่วนอาการในจิต...ไม่ต้องไปข้องแวะ มันจะเป็นยังไง ช่างหัวมัน เหมือนกับเรื่องของมัน อย่าไปยุ่งๆ ...มันจะมี มันจะเป็น มันจะเกิดอารมณ์ มันจะดี มันจะไม่ดี

หรือมันจะมีความขุ่นข้องหมองใจ มันจะมีอารมณ์หนักเบาน้อยใหญ่ ...ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องเข้าไป manage  แค่คิดจะเข้าไป manage มัน...ก็ไม่เอา เหมือนแยกไว้เป็นกองส่วนหนึ่ง

แล้วก็มาปักหลักลงที่ว่า กายกำลังทำอะไรอยู่ เอาตรงนี้ ...จนกว่ามันจะเกิดความยินยอมพร้อมใจในการที่จะเอาจำเพาะกาย อย่างอื่นไม่เอาเลย นั่นแหละ จิตมันเริ่มมั่นคงขึ้น จะมั่นคงและตั้งมั่นขึ้นเอง

เพราะว่าเราน้อมลงมาที่เดียวที่เดิม...ที่เดียวคือปัจจุบัน ที่เดิม คือกาย ที่เดียวที่เดิมๆๆ ย้ำซ้ำๆๆ อยู่อย่างนี้ ...จิตมันไปไม่ได้หรอก มันหนีไม่ออก หนีไม่ไกล ไปไม่พ้นกายนี้หรอก 

นี่ จิตก็จะเริ่มเกาะกลุ่มรวมตัว..เกาะกลุ่มรวมตัว...นั่นน่ะที่ว่าสมาธิเริ่มก่อตัวขึ้น ...แต่ถ้าไปอย่างนู้นอย่างนี้สะเปะสะปะไป มันไม่มีทางหรอกที่จะเกิดความตั้งมั่น 

พอจิต...ถ้าลิ้มรสความตั้งมั่นได้ปุ๊บนี่ มันจะมีความสุขแห่งสมาธิเกิดขึ้นเอง อานิสงส์แห่งสมาธิก็จะเกิด ...มันจะรู้เลยว่า เทียบไม่ได้เลยกับการที่จิตร่อนเร่ไปมา

การไปคิดเรื่องนั้น คิดถึงเรื่องนี้ คิดถึงใครคนโน้นคนนี้ หรือไปในเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ...มันจะรู้เลยว่าจิตที่อยู่ในอาการนั้น กับจิตที่อยู่ตรงนี้เฉยๆ นี่ มันต่างกัน

มันจะเห็นคุณค่าของสมาธิ จะเห็นคุณค่าของศีล ...แล้วต่อไปเมื่อยิ่งเกิดปัญญาขึ้น มันจะยิ่งเห็นคุณค่าของศีลสมาธิปัญญา เห็นจิตที่อยู่ในศีลสมาธิปัญญานี้มีคุณค่า

แล้วทีนี้มันจะไม่นิ่งดูดายต่อศีลสมาธิปัญญาเลย มันจะหวงแหนรักษา ระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ศีลสมาธิปัญญานี้บกพร่องลงไป แล้วก็กลับไปคืนสู่อาการเดิม คือคิดไปเรื่อย

นั่นน่ะ ทั้งหมด...เริ่มตรงนี้ เริ่มที่กาย...จบที่กาย


...............................





วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 17/37


พระอาจารย์
17/37 (580110F)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10 มกราคม 2558


พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้น เรียนรู้เรื่องกายเรื่องเดียวนี่แหละ...ให้แจ้งเถอะ ...ไม่ต้องไปเรียนรู้ที่อื่น ไม่ต้องไปเรียนรู้ธรรมบทอื่น

ของง่ายๆ ใกล้ตัว แต่ละได้ยากที่สุด ...ของง่ายนะ ใกล้ตัวนะ แต่บอกให้เลยว่า ละยากที่สุด ...ส่วนที่เป็นอรูปขันธ์ อรูปโลกนี่ อรูปธาตุนี่ ง่ายยิ่งกว่ากายใกล้ๆ นี่อีก

เพราะนั้นการเรียนรู้ในเรื่องของกายนี่ จนกว่าจะรู้แจ้งในกายนี่ จึงใช้เวลามาก...ต้องใช้เวลามาก นาน พอสมควร

แค่จำกัดจิตให้อยู่กับความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่งในกายนี่  เราสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ประเมินดู ...สามารถจมแช่อยู่กับความรู้สึกนั้นได้กี่นาที กี่ชั่วโมง โดยที่ไม่คลาดเคลื่อนเลย

มันจะต้องคร่ำเคร่งอยู่กันจริงๆ จนบังเกิดเป็นฉันทะ ...คือความเพียรแรกด้วยความอยาก แบบบังคับข่ม นี่เรียกว่าเพียรโดยความอยากและศรัทธา

แต่พอทำไปถึงจุดๆ หนึ่งน่ะ จุดที่เรียกว่ามันเป็นฉันทะ  มันไม่ต้องบังคับ มันเป็นด้วยความพอใจ ยินดีต่อธรรม สันโดษต่อธรรม เกิดฉันทะ ...ทีนี้มันไม่ลำบากแล้ว ถ้ามันเป็นฉันทะ

ไอ้แรกๆ ที่มันลำบาก ที่ว่าพยายามเอาชนะจิตออกนอก จิตคิดแลบไปแลบมา สงสัยลังเลในธรรม ค้นหาธรรมนู้น ธรรมหน้า ธรรมนอก ธรรมรูปแบบวิธีการปฏิบัติ...ทุกอย่างน่ะ มันจะไปอยู่ตลอด ออกอยู่ตลอด

ฝืนทวนๆๆ จนกว่ามันจะลงร่องศีลได้น่ะ ยอมต่อศีล ถูกศีลกำราบจนยอม จิตยอม ...เมื่อยอมแล้วมันจะอยู่โดยฉันทะ สบาย เรียบง่าย ไม่ลำบากในการปฏิบัติ ไม่ลำบากในการค้นหาวิธีการใดแล้ว

มันจะค่อยสบายขึ้น อยู่กับกายได้ด้วยความนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างแล้ว เมื่อมันอยู่กับกายได้ด้วยความไม่แข็งกระด้าง นั่นแหละที่เรียกว่าศีลสมาธินี่ควรแก่งาน

ไม่แก่เกินไป ไม่อ่อนเกินไป มันอยู่ในภาวะที่สมดุล นุ่มนวล ราบเรียบเสมอกัน ...ปัญญาก็ค่อยๆ พอกพูนขึ้นๆ ชัดเจนในความเป็นจริงขึ้น ยอมรับในความเป็นจริงแห่งกายขึ้น พร้อมๆ กันไป

ทีนี้ อย่าไปตายใจกับศีลสมาธิปัญญาทีเดียวว่า เฮ้ย รู้แค่นี้พอแล้ว ไปหาธรรมอื่นมาเรียนต่อ คือยกมาพิจารณาธรรมบทนั้นบทนี้ต่อ ...นี่เสียศูนย์ เดี๋ยวเสียศูนย์อีก

ทำอย่างใดทำที่เดียว เอาให้แล้วเป็นเรื่องๆ ต้องแล้วเป็นเรื่องๆ นะ ...กำลังของสมาธิเราไม่สามารถเพียงพอที่จะไปรู้หลายเรื่องในทีเดียว คราวเดียวหรอก ไปไม่รอดหรอก

ถ้าได้รู้จำเพาะกายก็จำเพาะกายลงไป จำเพาะศีลก็จำเพาะศีลลงไป ...เอาให้มันแจ้งกายแจ้งศีลนี้ก่อน เรื่องอื่นเอาไว้ทีหลัง ช่างหัวมัน

ความปรุงแต่งมันจะคอยอ้างธรรมนั้นธรรมนี้ สำคัญอย่างนั้น สำคัญอย่างนี้มา เพื่อให้ละได้เร็ว ละได้ไวก่อน ...มันว่าไปเรื่อยน่ะ อย่าไปฟังมัน

ลงที่กายนี่ ดูมันไป ต่อเนื่องไป จนกว่ามันจะตอบตัวเองได้ว่า ไม่สงสัยในความว่ากายนี้เป็นเรารึเปล่า ...จนกว่ากิเลสสะบั้นลงไป มันถูกสะบั้นลงไปจากกาย

จิตก็เงียบกริบเลยแหละคราวนี้ ความปรุงแต่งในจิตนี่เงียบกริบหมด สงัด วิเวก ข้างในนี่สงัดหมด เหมือนอยู่ในป่าช้าเลยมั้ง เหลือแต่กายใจเปล่าๆ ที่สงัดเงียบงันอยู่อย่างนั้น

ขันธ์ห้ามันเริ่มอ้อแอ้ๆ แล้ว...กูจะไปมายังไงวะ  มันไปมาไม่ออกเลย ไปมาไม่ออกเป็นรูปเป็นร่าง ...คือมันไม่สามารถก่อร่างสร้างขันธ์ขึ้นมาได้เป็นชิ้นเป็นอันแล้ว 

มันหมดแล้ว มันหมด เหมือนกับมันใกล้จะหมดสภาพไปแล้ว ขันธ์ห้านี่ สะเปะสะปะแล้ว ...สะเปะสะปะแล้วก็ร่วงหล่นๆ หลุดหาย ร่วงหล่นหลุดหายๆ

ไม่ต้องไปบังคับ ไม่ต้องไปอะไรเลย ...มันไม่สามารถต่อรวมตัวเป็นขันธ์ห้าได้ ภพมันเริ่มสลาย ไม่สามารถสร้างภพมาเป็นชิ้นเป็นอันได้น่ะ

เพราะว่าขันธ์ห้ามันรวมตัวกันไม่ติด...ร่วงๆ พอโผล่ขึ้นมาเป็นจุดเป็นต่อน ก็ร่วงๆๆ ...ไม่มีใครเล่นด้วย ว่างั้นเถอะ มันไม่มีใครไปเล่นด้วย

มันอยู่ที่นี้ๆ สองที่...กาย-ใจ กายใจที่ไม่ใช่เรา ...ขันธ์ห้ามันก็ไม่สามารถจะสร้างความน่าจะจริง น่าจะเป็น น่าจะมี ขึ้นมาให้ลุ่มหลงมัวเมาได้ง่ายๆ

นั่น ตามครรลองเส้นทางของมรรค มันจะเป็นอย่างนี้ ...มันจะเรียนรู้ผ่านมรรค เดินบนมรรค มันจะรู้เห็นอย่างนี้ ผ่านทาง ระหว่างทางดำเนินนี่

มันก็เกิดความเข้าอกเข้าใจในความเป็นไปของขันธ์ห้า ว่ามันเป็นทุกข์เป็นโทษ มันเข้าใจความเป็นจริงของกายใจ ว่ามันเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นเรา เป็นใครของใคร หรือไม่เป็นใครของใคร

มันก็จะค่อยๆ เข้าใจไปทั้งสองระบบ...ระบบขันธ์ห้ากับระบบกายใจ แล้วก็ระบบที่ล้อมรอบขันธ์ห้ากับระบบที่ล้อมรอบกายใจ คือโลกทั้งสาม ...มันเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลย

อยู่ตรงนี้ที่เดียวนี่แหละ ไม่ได้ไปหาไปค้นอะไรเลย  ธรรมเขามาแสดงให้เห็นเอง กิเลสเขาก็แสดงให้เห็นเอง ...ตราบใดที่ยังมีกิเลส ไม่ต้องกลัวจะไม่เห็นกิเลส เดี๋ยวเขาแสดงให้เห็นเอง

การละการเลิก การเพิกการถอน ก็เป็นไปตามลำดับธรรมแห่งศีลสมาธิปัญญา ...ศีลสมาธิปัญญามากเท่าไหร่ก็ละกิเลสได้เท่านั้น เห็นกิเลสได้ลึกซึ้งเท่านั้น เห็นกิเลสด้วยความแยบคายขึ้นเท่านั้น 

แล้วก็ละได้ง่าย ไม่ยาก แล้วละแล้วก็ค่อนข้างจะ..ละแล้วละเลย คือไม่ค่อยหวนกลับคืน

มันหลอกได้อย่างมากไม่เกินสามครั้งมั้ง ครั้งที่สี่มันหลอกไม่ได้แล้ว ประมาณนั้นน่ะ ...ต่อไปก็หลอกได้ครั้งเดียว...หลอกอีกไม่ได้แล้ว ทิ้งโดยฉับพลันเลย

แต่แรกๆ หยาบๆ ก็กิเลสหลอกได้ประมาณสิบครั้งยี่สิบครั้ง พอครั้งที่ยี่สิบ เออะ กูค่อยทิ้ง ปัดทิ้งโดยทันที ไม่เสียดาย ...แต่พอนานไปนี่ ปุ๊บเดียวทิ้ง พั้บๆๆๆ เหมือนจักรผันเลย

นั่น มันหลอกไม่ได้แล้ว จริงคือจริง เท็จคือเท็จ ไม่จริงคือไม่จริง ไม่มีคือไม่มี มีคือมี ...มันชัดเลย ของจริงกับของไม่จริง

ทิ้งไปทิ้งมา ปัดไปปัดมา ขันธ์ห้า ละไปละมา วางไปวางมา สามโลกธาตุดับหมด ไม่มี ...เอ้า เป็นงั้นไป นึกว่ามีตั้งสามโลก ไม่มีเลยสักโลก ...เออ ทำไปเหอะ แล้วจะเห็น

เมื่อไม่มีสามโลกธาตุ สามโลกธาตุมันราบเรียบเป็นหน้ากลอง ไม่มีที่ตั้งให้อยู่ ให้ยืน ให้หยัด ให้เกิด ให้มีให้เป็นคน เป็นเรา เป็นสัตว์...ไม่มี ว่างหมด

ขันธ์ห้าไม่รู้จะเกิดยังไง จิตจะพาขันธ์ห้าไปเกิดไม่ได้ เพราะไม่มีที่ให้เกิด ...มันก็เลยกลั้นใจตายไปเลย..อวิชชา เพราะมันหาที่เกิดไม่ได้แล้ว

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น มันจะต้องหากายนี้เป็นที่เกิดไม่ได้ก่อน ...ถ้ายังหากายนี้เป็นที่เกิดแห่ง "เรา"ได้...เสร็จมัน ไม่ต้องไปโลกไหนแล้ว โลกนี้เอาให้รอดเถอะ

มันก็จะมาวนอยู่ซ้ำกายเดิมนี่แหละ เพราะมันเป็นแหล่งหาความสุขแก่เราได้อย่างชัดเจนและเร็วไว ...เพราะมีอายตนะหกนี่เป็นผู้รองรับความสุข หาความสุขให้ผ่านกาย โดยกาย

มันมาแอบอ้างกายเป็นของมัน แล้วก็หาความสุขผ่านตาหูจมูกลิ้นกาย...เพื่อเป็นสุขแก่ "เรา"

เพราะนั้นถ้าตราบใดที่ยังทำลายความเป็นเราในกายไม่ได้ ไม่ต้องไปถามโลกอื่นเลย...ยังไงก็เกิดเป็นคน ...เพราะยังเป็นแหล่งทำมาหากินได้ คือสร้างความสุขแก่เราได้ง่ายๆ มันไม่ไปไหนหรอก

ยกเว้นกรรมมันจะพาไป ต่ำกว่า สูงกว่า ...แต่สุดท้ายก็มาเป็นคน เพราะมันเป็นที่ชุมนุมอายตนะครบ...สามโลกธาตุรวมอยู่ในนี้ กายมนุษย์นี่  

แล้วมันเป็นทางแยก จะไปไหนก็ได้ ตรงเนี้ยคือกาย ...เพราะนั้นแก้กายได้ ข้ามกายได้ หลุดพ้นจากกายได้นี่ สบายเลยๆ 

ดูเข้าไป รู้เข้าไป จนหากายไม่เจอ หาเราไม่เจอ จนหาแขนขาไม่เจอ จนหาหัวหาตัวไม่เจอ หาสีสันวรรณะสถานะไม่เจอ ...ดูไปจนไม่เจออะไรเลย 

เป็นอะไรที่...ไม่ต้องกลัวนะว่าจะเป็นภพว่าง ไม่ว่างนะ ถ้ามันยังมีตรง..เห็นกายเหมือนฟองอากาศน่ะ อะไรล่ะ มันจะอะไรล่ะ ฟองอากาศเหมือนกับพรายน้ำน่ะ

เออ มันจะเห็นกายเป็นเหมือนกับพรายน้ำ เหมือนฟองอากาศผุด นั่น มันจะเป็นสัตว์บุคคลอะไร ดูเข้าไปจนมันหมดสถานะในตัวของมันไปเลยนั่นน่ะ

นั่นแหละ ความเพียรเท่านั้นที่จะทำให้แจ้ง ความเพียรต่ำ ความเพียรน้อย ความอยากเยอะ การประกอบกระทำน้อย...เหล่านี้มันก็ขัดขวางการเจริญในองค์มรรคอยู่แล้ว

เพราะนั้น...โดยเฉพาะพระนี่ ควรจะเร่งรัดมากกว่าญาติโยมซะอีก เพราะว่าตั้งใจเจตนาในการบวชเป็นพระมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะอยู่แล้ว แม่ชีด้วย 

ไม่ใช่ว่ามาโกนหัวอยู่บ่ดาย ...ก็ให้เร่งภาวนาทุกลมหายใจ เติมศีลสมาธิปัญญาให้เต็ม..โดยสติ  เติมศีลสมาธิให้เต็ม ไม่บกพร่อง ไม่ร่วงหายง่ายๆ ให้มันยากหน่อย

เช่นเวลาเกิดอารมณ์ กระทบอารมณ์อะไรต่างๆ นี่ อย่าให้ศีลสมาธิปัญญาร่วงหายไปง่ายๆ ...ให้มันหายก็ให้หายแบบ...สู้กันสักตั้ง อย่าตามอารมณ์ทีเดียว

อย่าให้มันมีอารมณ์เป็นใหญ่อย่างเดียว อย่าให้กิเลสมันเป็นใหญ่ข้างเดียว  พยายามสร้างศีลสมาธิให้ใหญ่กว่ากิเลส ...ต้องสู้กัน อย่าให้มันร่วงหาย บอบบางแตกร้าวๆ ง่าย

กับกิเลสล้อมรอบนอกๆ ที่มันคอยจะกระทบให้เกิดอารมณ์ ...พอมีอารมณ์ปุ๊บนี่ เราจะทิ้งศีลสมาธิปัญญาแล้วเข้าไปมีอารมณ์ทันที อย่างรวดเร็ว อย่างเคยชิน

นี่ จะต้องระงับยับยั้ง แล้วก็ยึดเหนี่ยวรั้งกายใจปัจจุบันไว้ ...สู้กัน ยื้อกัน ยื้อกับอารมณ์ที่มันจะดึงให้เข้าไปเกลือกกลั้วมัวเมาในอารมณ์กิเลส ความมีเป็นในขันธ์ทั้งเราและเขา ต้องคอยสู้กันตลอด

จนศีลสมาธิปัญญามันไม่ล้มลุกคลุกคลาน ไม่บอบบาง แตกร้าวผุกร่อนได้ง่าย ...กิเลสมันก็จะเริ่มแสดงความเป็นจริงของตัวมันเองว่า ตัวมันเองน่ะไม่มีอะไรเลย

เป็นอะไรที่...ถ้าเราไม่ไปให้ความสำคัญ ไม่อะไรกับมันจริงๆ นี่  มันไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลยจริงๆ ทำอะไรไม่ได้เลย ...สุดท้ายมันก็สลายๆ สลายหมด

ของจริงมีอยู่นี่ ไม่มีทางเสื่อมไม่มีทางสลาย ...แต่กิเลสซึ่งไม่มีอยู่จริงอยู่แล้วนี่ มันก็แสดงความเป็นจริง ธาตุแท้ของมันเลยว่า ไม่มีอะไรๆ อารมณ์ก็เป็นอารมณ์ ไม่มีอะไร

โลภๆ โกรธๆ หลงๆ หงุดหงิดๆ ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรในนั้นเลย มันสลายหมด แต่ตัวนี้ยังคงอยู่แบบสว่าง เด่นหราอยู่ตลอด นี่ ความจริงคือความจริงวันยันค่ำ...ศีลสมาธิปัญญา

ศีลก็คือศีลวันยันค่ำ สมาธิก็คือสมาธิวันยันค่ำ ปัญญาคือปัญญาวันยันค่ำ ...คือมันเป็นของที่เป็นของจริงที่มีอยู่วันยันค่ำคืนยันรุ่ง

แต่กิเลสมันเป็นเหมือนกับอะไร ...อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า เหมือนเป็นเพียงแค่อาคันตุกะ แค่นั้นเอง เป็นแค่อาคันตุกะ ผ่านไปผ่านมา

รูป รส กลิ่น เสียง ก็เหมือนกัน ผ่านไปผ่านมา แค่นั้นเอง มันไม่มีอะไร มันไม่ได้มีไปตกไปค้างอยู่ตรงไหนเลยกับกายใจ

ยกเว้นว่าเราไปสร้างขันธ์มารองรับมัน ...จิตไปสร้างขันธ์รองรับเมื่อไหร่ รูปเสียงกลิ่นรสมันก็จะตกอยู่ในขันธ์ สัญญาขันธ์บ้าง อนาคตขันธ์บ้าง

แต่ถ้าโดยศีลสมาธิปัญญาล้วนๆ นี่ มันไม่มีตกค้างอยู่เลย  รูปเสียงกลิ่นรส แล้วอารมณ์ที่มาจากรูปเสียงกลิ่นรสก็ไม่มีตกค้างอยู่เลย

เรียนรู้ไปเหอะ ทำไปเหอะ ภาวนาไปเหอะ จะเข้าใจอย่างที่เราพูดเองน่ะ ...จนกว่ามันจะเข้าใจ ยอมรับ แล้วก็ปล่อยวางสิ่งที่ไม่จริงออกให้พ้นกายใจ ...จนเหลือแต่กายใจล้วนๆ นั่นน่ะ ก็หมดปัญหา 


(ต่อแทร็ก 17/38)




วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 17/36 (2)


พระอาจารย์
17/36 (580110E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10 มกราคม 2558
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 17/36  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าความรู้ความเห็นใดที่สืบค้นต้นตอ สาวมาถึงต้นตอว่ามาจากศีลสมาธิปัญญา ...อันนั้นน่ะ รู้จริง รู้แจ้ง รู้ชัด รู้ตามความเป็นจริง ...ไม่ผิด 

มันสามารถตรวจสอบตัวเองได้ก่อนนะ ...ถ้าตรวจสอบนี่...เออ อย่างที่หลวงตาบัวท่านเคยเขียนไว้เรื่องอรหันต์นกหวีดน่ะ เคยอ่านไหมเรื่องอรหันต์นกหวีดนี่

ที่มีพระไปธุดงค์ด้วยกันสามสี่องค์ ตกกลางคืนองค์หนึ่งเป่านกหวีดปรี๊ด เพื่อนวิ่งไปดู ท่านก็บอกผมสำเร็จแล้ว ...เอ้า อีกสามสี่คืนต่อมา เป่าอีกปรี๊ด...ผมไม่ได้สำเร็จ ผมถูกหลอก ...นั่น อรหันต์นกหวีด

นั่นยังดีนะ ท่านยังทบทวนตัวเองได้ว่าถูกหลอกหรือไม่ถูกหลอก ...แต่ก็ยังเสียท่ากิเลส คือไปเชื่อมัน แล้วก็ไปแสดงโชว์โง่น่ะ อวด อวดธรรม  เห็นมั้ย มันพาอวดธรรมที่เราได้

เพราะนั้นต้องคอยตรวจสอบเสมอ...ว่าธรรมที่ได้ ธรรมที่รู้น่ะ จริงหรือเท็จ มาจากศีลสมาธิปัญญามั้ย หรือมาจากจิตปรุงแต่งล้วนๆ 

เพราะนั้นความรู้จริง รู้แจ้ง รู้ชัด รู้ชอบ รู้ตรงนี่...จะต้องรู้ด้วย ญาณทัสสนะ ...คำว่าญาณทัสสนะ มาจากว่า หยั่งรู้ หยั่งเห็น  ญาณ..หยั่งรู้ ทัสสนะ..หยั่งเห็น

ตัวหยั่งรู้หยั่งเห็นด้วยญาณนี่ จะต้องมีฐานมาจากศีล-สมาธิ มันจึงจะเป็นญาณทัสสนะ ...จิตจะต้องระงับสังขาร จิตจะต้องระงับขันธ์ จิตจะต้องระงับความเห็น ระงับอดีตอนาคต ระงับอารมณ์ 

จิตดวงนี้จึงเรียกว่าเป็นจิตสมาธิ ...แล้วมันจะต้องเป็นจิตที่อยู่กับกาย จึงจะเกิดการหยั่งรู้หยั่งเห็น ...ไม่ใช่อยู่ลอยๆ นะ

อย่างสมมุติว่าเข้าถึงผู้รู้ เอ้า ด้วยวิธีการสติปัฏฐานใดฐานหนึ่งก็ได้ แล้วมันคงไว้แต่ผู้รู้ สภาวะรู้ลอยๆ นี่ มันจะหยั่งรู้หยั่งเห็นกับอะไร...ไม่มี ไม่มีที่ให้มันหยั่งรู้หยั่งเห็นเลย

แต่ถ้าเป็นสมาธิที่มาจากศีล คือมาจากกาย มันจะอ้างอิงกายเป็นฐาน ...ถึงแม้ตัวมันจะเป็นหนึ่ง ไม่คิดไม่ปรุงแต่ง แต่มันจะเหมือนยึดโยงอยู่กับกายอยู่

เพราะนั้นเมื่อมันยึดโยงอยู่กับกาย เวลาเป็นดวงจิตสมาธิแล้ว ปัญญามันพร้อมที่จะเกิดแล้ว อาการรู้และเห็น หยั่งรู้หยั่งเห็น มันจะหยั่งลงที่กาย...แต่เป็นกายอย่างที่เราบอกตอนแรก เป็นกายเปล่าๆ เปลือยๆ

นั่นแหละ ความรู้เห็นอย่างนี้ จึงเรียกว่าญาณ..ปัญญาญาณ ...ไม่ได้รู้เห็นโดยกิเลส ไม่ได้รู้เห็นโดยคิดนึกเอาเอง แต่มันรู้เห็นผ่านศีลสมาธิ ความรู้เห็นอย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นความรู้เห็นอันชอบอันควร หรือสัมมาทิฏฐิ

เป็นความรู้ชอบ เป็นความรู้ที่ตรงต่อธรรม เป็นความรู้ที่ไม่เกิดจากการบิดเบือนธรรมโดยกิเลส เป็นความรู้ที่แจ้งชัดและตรงต่อธรรมที่อยู่เบื้องหน้าใจ ...จึงเรียกว่าเป็นความรู้เห็นผ่านญาณทัสสนะ

เมื่อมันผ่านญาณทัสสนะแห่งการรู้เห็นขันธ์ด้วยปัญญาอย่างนี้ต่อเนื่อง ...ผลของญาณทัสสนะ จะทำให้เป็นญาณวิมุติทัสสนะ คือเห็นด้วยความหลุดพ้นจากความติดและข้อง 

คือมันเห็นจนเข้าใจ เห็นจนยอมรับน่ะ จึงเป็นวิมุติทัสสนะ หลุดจากความเห็นผิดในกาย ว่าเป็นเรา ว่าเป็นสัตว์ ว่าเป็นบุคคลนี่แหละ

แต่ผู้ภาวนานั้นจะต้องเป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยในความเพียรเลย ...ความเพียรคืออะไร ...คือทำอะไรเหมือนเดิมซ้ำซากไม่เปลี่ยน ...นี่ มันน่าเบื่อนะ

กายก็กายอันเก่า นั่งก็นั่งแบบเก่า ความรู้สึกก็ความรู้สึกแบบเก่า แล้วก็ไม่ได้อะไรด้วยนะระหว่างทำระหว่างดูน่ะ ...อันนี้คือความเพียร ไม่ท้อถอย 

ระหว่างที่ทำนี่ มันก็มีหน้ากากอีกตัวหนึ่ง มันก็ตั้งหน้าตั้งตารอว่า...เมื่อไหร่กูจะได้วะ เมื่อไหร่กูจะสำเร็จ ...มันอยู่ข้างในน่ะ แล้วก็คอยจะสร้างอารมณ์ เบื่อ เหงา เซ็ง อิดหนาระอาใจ ท้อแท้ ไม่ไหว

มันก็บ่นเป็นหมีกินผึ้งอะไรอย่างนี้ นี่ มันจะต้องมีอยู่ข้างในที่มันคอยเดือดเนื้อร้อนใจ จะออกมาวาดลวดลาย...เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นการใดการหนึ่งขึ้นมาให้ได้น่ะ

แต่กายกับใจ กายกับสติ กายกับรู้ ก็ยังทื่อๆ ของเขาอยู่อย่างนั้น  ดูหน้าตามันก็ไม่น่าจะไปถึงนิพพานได้ในเร็ววัน ...เนี่ย มันจะเห็นอยู่อย่างนั้นตลอดน่ะ 

ก็สักพักนึงก็..."ไม่เอาแระ ไม่ไหว พอแล้ว" ...ดูเวลามาจนคอเคล็ดแล้วระหว่างเดินจงกรม เมื่อไหร่จะถึงเวลาที่กูตั้งไว้  พอถึงปุ๊บ เหมือนกับได้ของขวัญปีใหม่เลย ได้นอนซะที

นั่น มันได้ความสุขแห่งเราแบบง่ายดาย รวดเร็ว ฉับพลัน  นี่คือความสุขในขันธ์นี่เร็วนะ แค่นึกแล้วทำปั๊บ ได้เลย …แต่ภาวนาอะไรวะนี่ ดูไปกูยังไม่ได้เฉียดใกล้นิพพาน ไม่ได้รู้เลยนิพพานอยู่ไหน

ตรงนี้ที่เรียกว่าความเพียร ต้องอาศัยความเพียร ไม่ท้อถอย ...รู้ไปดูไป ไม่ได้อะไรก็ไม่ได้อะไร  อย่าให้จิตออก อย่าให้จิตลืม อย่าให้จิตห่าง อย่าให้จิตหายจากนี้...จากกาย จากความรู้สึกในกาย

เพราะนั้น มันจะดูให้เป็นรูปก็ได้ ดูให้เป็นความรู้สึกก็ได้ เอาอะไรก็ได้ให้ได้ไว้ก่อน ขอให้เป็นกรอบของกายนี้ ...เมื่ออยู่ในรูปกายได้ชัดแล้ว ทรวดทรงของอิริยาบถได้ชัดแล้ว

ก็มาทำความรู้สึกให้ชัดอยู่ในรูปทรงนั้น ว่ารูปทรงแห่งการนั่งมันรู้สึกยังไง รูปทรงแห่งการยืน  รูปทรงแห่งการเดินมันรู้สึกยังไงชัด ก็ให้มันรู้สึกในความรู้สึกที่เป็นใหญ่ในอิริยาบถนั้นๆ

หมายความว่ามันไม่แตกออกนอกรูปกายนั้นนะ ...แต่ถ้ายังขยับขยายไปมาระหว่างความคิดกับกายคนอื่น กายคนนั้นคนนี้ ก็พยายามน้อมลงที่กายตัวเอง รูปกายตัวเอง

กำลังทำท่าอะไรก็ให้เห็นตัวเองกำลังอยู่ในท่าไหน ...เอาล่อเอาเถิดกับกาย เอาล่อเอาเถิดกับจิตที่มันจะออกนอกกายนี่ ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่เห็นแก่เวล่ำเวลา ไม่เห็นแก่กิจธุระภายนอก

เดี๋ยวมันก็ก่อร่างสร้างศีล ก่อร่างสร้างสมาธิขึ้นมาได้เป็นทีละเล็กทีละน้อยเอง ...จนถึงจุดที่เรียกว่า เสื่อมแล้วได้อีก หายแล้วทำอีก ทำแล้วทำอีก บ่อยๆ

คราวนี้ จิตไปมานี่..จะว่านอนสอนง่าย ไม่ยาก ไม่ดื้อ ไม่ดึงดัน ไม่ดันทุรัง ...เหมือนแค่แตะเบาๆ รู้เห็นเบาๆ ว่ามันไปแล้ว มันก็กระวีกระวาดกลับที่กลับฐานเลย 

นี่ ว่าง่ายสอนง่ายแล้ว ...เรียกว่าผู้นั้นน่ะ ความเพียรแล้วก็การคร่ำเคร่งในศีลสมาธิปัญญานี่ มันมีแรงมันมีกำลังกว่าอำนาจของกิเลส พอเห็นได้

แต่ยังไม่พอแค่นี้ จะต้องเอาจนกว่ากิเลสนี่อยู่หมัด ...หมายความว่า ความปรุงแต่งในจิตนี่อยู่หมัดเลย ไม่ได้ไป ไม่ได้มาเลยแหละ ...นี่คือความแข็งแกร่งของศีลสมาธิปัญญา

แต่ยังอยู่ในท่าทางท่าทีแห่งการควบคุมไว้ ...แล้วอาศัยช่วงเวลาที่ควบคุมไว้นี่แหละ มันจะเกิด...บังเกิดการเรียนรู้อย่างชัดเจนชัดแจ้งในกองกาย อยู่แทบจะตลอดเวลาเลย 

เวลามันถึงจุดที่มันอยู่กันจริงๆ นี่ มันไม่ได้หลับไม่ได้นอนหรอก ไม่ง่วงเหงาหาวนอนเลย ...ต้องบังคับให้นอน ตื่นมาปุ๊บมันทำงานใหม่ ทำงานต่อเลย 

ทำงานคืออะไร ...คืองานสืบค้นความเป็นไปในกาย ไม่ได้สืบค้นโดยคิดนะ สืบค้นโดยญาณ ...จนถึงสภาวะ...สภาพที่เรียกว่ากายนี่แตกแหลกสลายเลย

คำว่าสลาย...ยังไง ...คือไม่สามารถรวมรูปได้ ไม่สามารถตั้งกรอบรูปขึ้นมาหุ้มกายได้ ...กายนี่จะกระจัดกระจายหมด ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีสีสัน ไม่มีวรรณะ ไม่มีประมาณ ไม่รู้อยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ของมัน 

นี่ มันอยู่ของมันตรงไหนก็ไม่รู้ กายมันแตกละเอียดหมด ...ถึงตรงนั้นแบบนั้น ที่มันเห็นอย่างนั้น...ด้วยญาณที่พาให้ไปเห็นกายอย่างนั้นนะ  จ้างมาร้อยล้านพันล้านก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นเรา บอกให้เลย

บีบบังคับยังไงให้เป็นเราๆ ให้เป็นสวยเป็นงาม...ไม่มีอ่ะ มันเป็นไปไม่ได้เลย มันเห็นซะจนขนาดนั้นแล้วในความเป็นกายน่ะ กิเลสจะมาหน้าด้านบอกว่าเป็นเราได้ยังไง แบบไหนล่ะ...ไม่มีอ่ะ เป็นไปไม่ได้เลย

นั่น การรู้เห็นนั้นถึงเรียกว่าเป็นโดยปัจจัตตัง ไม่ต้องให้ใครยืนยันเลย ...มันเห็นอย่างนั้น มันยืนยันได้ด้วยตัวมันเองเลยว่าไม่ใช่เราจริงๆ มันยืนยันโดยเป็นปัจจัตตัง


(ต่อแทร็ก 17/37)