วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 17/31


พระอาจารย์
17/31 (580109D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
9 มกราคม 2558


พระอาจารย์ –  มันอดไม่ได้ที่จะกระโดดเข้าไป คว้า จับ หมาย จริงจัง เอามาเป็นธุระ เอามาเป็นอารมณ์ต่อน่ะ ...นี่คือความคุ้นเคย 

ไอ้ความคุ้นเคยนี่ ท่านเรียกว่าเป็นอนุสัย เป็นสันดาน ...แต่ศีลสมาธิปัญญานี่ เป็นตัวที่แก้อนุสัยสันดาน ที่เรามันจะน้อมเข้าไปในจิตอยู่เสมอ 

แม้กระทั่งไม่มีเรื่องเลย มันก็ยังอยู่โดยลำพังไม่ได้โดยกายใจ มันก็ยังสร้างเรื่องขึ้นมาเองน่ะ ถึงไม่ได้กระทบอะไร ไม่มีอารมณ์อะไร มันก็สร้างความคิดความนึกขึ้นมา 

มันต้องฝืน ฝืนด้วยการละวาง ...แต่ไม่ใช่ว่าไปดับมัน อย่าไปทำให้มันดับนะ อย่าเข้าใจว่าการละวางคือการทำให้จิตดับนะ...ไม่ใช่  หรือไปทำให้เรื่องราวในจิตดับ...ก็ไม่ใช่

นี่ใช้คำว่าละวาง คือ ไม่แยแสมัน ทั้งดี-ทั้งร้าย ทั้งถูก-ทั้งผิด ...ไม่แยแสมัน ถอย แล้วมาตั้งอยู่ที่ที่มีอยู่จริง ...กายที่มีอยู่ตรงปัจจุบัน ถือว่าเป็นกายที่มีอยู่จริง

เพราะนั้นก็ถอยจากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง มาอยู่กับที่ที่มีอยู่จริง นี่คือที่ตั้งแห่งศีล...ตัวศีลมีอยู่จริง ก็มาจับไว้ 

แล้วทีนี้เราก็มาทำความชำนิชำนาญในศีล อย่างที่ว่านี่คือเพื่อให้เกิดความชำนิชำนาญในศีล ซึ่งจะเป็นบาทฐานให้เกิดสมาธิ

เพราะนั้นในการรู้กาย เมื่อยังไม่ชำนาญในกายในศีลนี่ มันก็ไปรู้ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง รู้แบบความรู้สึกโดยรวมบ้าง อะไรบ้าง นี่เรียกว่ายังไม่ชำนาญในศีล ที่จะรักษาศีล เจริญในศีลอย่างไรจึงจะเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ

พอมันทำจนชำนาญ หรือว่าโดยได้รับคำชี้แนะ แล้วไปทำ ...ตรงนี้ มันจะเกิดการเข้าถึง เป็นเหตุให้เกิดสมาธิได้ง่าย ได้เร็วขึ้น

สังเกตดูสิ เวลาพวกเรานั่งอย่างนี้แล้วจับลงที่ความรู้สึกที่ก้นนี่ อยู่ได้แพลบๆ แพลบๆ ใช่ไหมล่ะ  จิตกระโดดไปกระโดดมาใช่ไหม แล้วมันจะมีความรู้สึกไม่อยากอยู่

นี่ มันอยากหาอะไรใหม่ๆ มันชอบอะไรใหม่ๆ ใหม่ๆ ก็คือเกิดขึ้นมาจากการปรุงขึ้นโดยจิต เป็นอารมณ์บ้าง เป็นความคิดบ้าง อย่างนั้น

ก็ฝืนทวน ฝืนทวนลงมา ได้เป็นขณะๆ ไป แล้วก็พยายามรักษาให้มันต่อเนื่องไป นั่นคือหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ ...ไม่มีเรื่องอื่น ไม่เอาเรื่องอื่น ไม่คิดเรื่องอื่น ในการปฏิบัติ ไม่คิดเรื่องอื่นเลย ว่าวิธีการไหน วิธีไหนดี วิธีไหนถูก


โยม –  หลวงพ่อคะ เคยนั่งฟังเทศน์แล้วง่วงมากอย่างนี้ค่ะ ต้องทำยังไงคะ

พระอาจารย์ –  บอกแล้วว่าจิตที่ไม่ตั้งมั่น ไม่สามารถเอาชนะถีนมิทธะได้หรอก ...ก็เปลี่ยนอิริยาบถ  ถ้ามันอยู่คนเดียวน่ะ เดิน...เดินให้มาก เดินไปเดินมา 

เวลาเดินเอาเท้ากระทบพื้นแรงๆ ให้มันรู้สึก กึกๆๆ  แล้วก็จ่อไว้จรดไว้กับไอ้กึกๆๆ นั่น ...ให้แน่น ให้มั่น เพ่งจ้องลงไป เดี๋ยวมันก็หายง่วงหายมัวเอง ...มันมัว ซึมเซา

มันติดทุกคนแหละ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งหรอก ถีนมิทธะน่ะ เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ คลายไปเอง ถ้าจิตมันตั้งมั่นได้

แต่คราวนี้ที่มันตั้งมั่นไม่ได้ เพราะมันทำไม่ถูก ไม่ถูกต่อศีล ไม่ถูกต่อสมาธิ ...มันก็ตั้งมั่นไม่ได้สักที มันก็ง่วงซึมอยู่ตลอดเวลา

แต่พอมันมาตั้งมั่นได้เป็น ตั้งมั่นได้โดยกำหนดเจริญในศีลได้ถูกต้องแล้ว...นี่ สมาธิที่แท้จริงเกิดขึ้น ...ทีนี้ถีนมิทธะไม่เกิดแล้ว จะไม่ค่อยเกิดแล้ว

มันจะเกิดขึ้นตราบเท่าที่โยมยังไม่เข้าไปถึงสัมมาสมาธิ เข้าใจไหม ...เพราะนั้นโยมอย่าไปหาวิธีแก้ อย่าไปหาว่าจะทำให้หายง่วงด้วยวิธีไหน...ไม่มีอ่ะ

ทำยังไงให้สติเยอะๆ ศีลเยอะๆ กายเยอะๆ เข้าใจมั้ย  แล้วมันถึงสมาธิถึงสมาธิเมื่อไหร่ ไม่มีนิวรณ์  ถีนมิทธะไม่มี หรือมีขึ้นมาก็สามารถตั้งมั่นรู้เห็นจนมันสลายได้

แต่ตราบใดที่ยังไม่เข้าถึงสมาธิที่แท้จริงนี่ ยังไงก็ง่วงน่ะ ยังไงก็ฟุ้ง ยังไงก็ปรุง ...ก็ต้องมาฝึกฝืนๆ เอากับกายนี่แหละ สติในกายนี่แหละ บ่อยๆ บ่อยๆ  แล้วก็รักษาให้ต่อเนื่อง จนมันรู้เองน่ะ


โยม –  อาจารย์ครับ มันจำเป็นไหมที่จะต้องคงสติกับตรงไหน ...หรือว่าไม่เลือก

พระอาจารย์ –  ไม่เลือกธรรม


โยม –  ไม่จำเป็นต้องส่งลงมาใช่ไหม

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องส่ง  มาไง..มางั้น เป็นไง..เป็นงั้น ...ตั้งมั่นเฉยๆ เป็นกลาง มาก็มา มีก็มี เป็นก็เป็น ไม่เป็นก็ไม่เป็น ไม่มีก็ไม่มี ...อยู่เป็นกลาง แล้วรายละเอียดมันก็มาของมันเองน่ะ

มันก็เป็นไปตามธรรม ที่มันจะเรียนรู้ธรรมที่ละเอียดขึ้นไปเอง เมื่อถึงคราวละเอียด  คราวหยาบมันก็เรียนรู้เรื่องหยาบ คราวละเอียดมันก็เรียนรู้เรื่องละเอียด ...มันก็เป็นไปตามความพร้อมของศีลสมาธิปัญญา


โยม – พระอาจารย์คะ ที่พระอาจารย์บอกว่าเรื่องการไปถึงจิตหนึ่งธรรมหนึ่งนี่ คือมันมีการเป็นกลางในธรรมปุ๊บนี่ ธรรมทั้งหลายนี่ จริงๆ มันแค่ไร้ความหมาย มันก็มีแค่ว่าเป็นธรรมที่ไม่ได้ให้ความหมายแค่นั้นเอง แต่ว่าตัวจิตนี่เขาก็จะอยู่ของเขา ใช่ไหมคะ เพราะนั้นหนูก็เน้นตรงที่พระอาจารย์ว่า มันเหมือนกับมันจะต้องอยู่กับเวทนาที่มันมากนี่ คือหนูเข้าใจว่าตรงนั้นนี่ คือตัวเวทนามันไม่ได้มาว่าเป็นเวทนา

พระอาจารย์ –  คือเป็นผลสืบเนื่องมาจากกายนั่นแหละ เวทนานี่ ...เวทนาในกายก็คือผลสืบเนื่องจากธาตุ 

แต่เวทนาทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส คือเวทนาที่สืบเนื่องจากขันธ์ มันคนละเวทนากัน ...เพราะนั้นไอ้ตัวเวทนาที่สืบเนื่องมาจากขันธ์นี่ มันจึงเป็นเวทนาของเรา  

แต่คราวนี้พวกเรายังไม่แจ้งในเวทนาขันธ์ แล้วไม่แจ้งทั้งเวทนากาย ...มันจึงไปเหมาเอาเวทนากายเป็นเวทนาเรา ...แต่เมื่อใดที่มันเห็นว่าเป็นเวทนาที่เนื่องด้วยธาตุ ไม่ใช่เรา มันก็จะไม่มีเราในเวทนากาย

เพราะนั้นมันจะมีเวทนาเราต่อเมื่อมันเป็นขันธ์ขึ้นมา คือมันปรุงแต่งขันธ์ขึ้นมาแล้วมาครอบกาย มันก็ครอบรวมเวทนาไปด้วย ...มันเลยเป็นความรู้สึกของเวทนาแห่งเรา

แต่มันเป็นเวทนาแห่งขันธ์ เป็นเวทนาขันธ์ ไม่ใช่เวทนากาย ...ถ้าเวทนากายเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากกายธาตุ มันสลาย มันเสื่อม มันเปลี่ยน มันไม่คงที่ มันไม่คงตัว

เพราะนั้นความสลาย ความไม่คงตัวของธาตุมันก่อให้เกิดเวทนา คือความรู้สึกทางกายในแง่ที่เป็นทุกข์แค่นั้นเอง ...แต่ว่ามันเป็นเวทนาธาตุเวทนาธรรม ไม่ใช่เวทนาขันธ์ 

เพราะมันมาจากธาตุ มันก็เป็นเวทนาธาตุน่ะสิ มันจะเป็นเวทนาเราได้ยังไง มันก็เป็นเวทนากาย ...แต่ถ้าเป็น "กายเรา" เมื่อไหร่ เวทนานี้จะเป็นเวทนาเราทันที 

แล้วมันก็ไม่รู้จัก ไม่แยกแยะในธรรม ไม่แจกแจงธรรม ปั๊บ มันก็ไปเหมารวมขันธ์กับกายนี่เป็นอันเดียวกัน มันก็เลยเหมาเอาเวทนาเป็นของเราไปด้วย

ถ้าตั้งมั่นเมื่อไหร่แล้วมันจะเห็นเอง มันจะเกิดความจำแนกธรรม แยกแยะธรรมให้เห็น เป็นคนละส่วนๆ ไป ...แต่คราวนี้ว่าไอ้ตัวเวทนาธาตุนี่เป็นสิ่งที่จิตน่ะมันยึดมาก มันไม่ยอมถอนง่ายๆ หรอก

เรียนรู้ไปเองน่ะ ในความเป็นจริงของเวทนา ก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเองนั่นแหละ ...ถ้ามันยิ่งเห็นกายเป็นธาตุมากเท่าไหร่ เวทนาก็จะเป็นธาตุมากเท่านั้นน่ะ


โยม –  ตอนแรกเมื่อก่อนนี้มันเหมือนกับมันไม่เข้าใจว่ามันดับหรือว่ามันมี แบบว่าเรารู้ว่าไอ้ตัวเวทนามันเห็นว่า เออ มันมีความดับ มันเหมือนกับ...คือมันแทนที่กันทันทีเลย พอมันตั้งมั่นปุ๊บ อันนี้ก็เหมือนกับมันเป็นกลางไปเลย ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  จริงๆ เวทนานั่นมันเป็นเวทนาหลอก จริงๆ มันไม่มีหรอก เป็นเวทนาเรามันหลอกขึ้นมาเฉยๆ เท่านั้นแหละ เขาเรียกว่าโรคประสาท มันก็เลยรู้สึกเป็นกายมีเวทนาขึ้นมา ...จริงๆ มันไม่มีหรอก

พอไปทำ ไปหลงวนกับมันมาก ก็เลยสำคัญว่านี่เป็นเวทนากายขึ้นมา แล้วพอไม่สนใจมันก็หายไป ...แต่ถ้าเป็นเวทนากายจริงๆ ไม่หายหรอก

มันไม่ได้หายเพราะการกระทำ ไม่ได้หายเพราะการเพ่งจ้อง ไม่ได้หายเพราะศีลสมาธิปัญญา ...ไม่หายน่ะ เวทนาจริงๆ นี่ไม่หาย ...แต่ถ้าเวทนาปลอมน่ะหายหมด  เวทนานอก เวทนาใน


โยม –  ที่นานมาแล้วที่พระอาจารย์เคยบอก มีคนถามว่า พระอรหันต์ยังจะเจ็บอยู่รึเปล่า แล้วพระอาจารย์ว่ามี มีคนกดก็ยังร้องอยู่เลย

พระอาจารย์ –  ไม่เจ็บก็มีแต่คนตายน่ะ ...พระอรหันต์ยังไม่ตายก็เจ็บ ก็ปวด ก็เมื่อย ...หลวงปู่ท่าน หลังๆ ท่านก็ยังนั่งขัดสมาธิเพชรไม่ได้เลย มันเมื่อย ปวด เนี่ย ทำไมท่านจะไม่มีเวทนา หือ 

แต่นั่นเป็นเวทนาของมัน ไม่ใช่เวทนาของท่าน ...ของธาตุ เป็นเวทนาของธาตุ ไม่ใช่ของเรา ...ท่านก็ไม่เอามาเป็นภาระ


โยม –  พระอาจารย์คะ แล้วถึงจุดอย่างนี้ ที่สามารถแยก อย่างแบบ...ลอยตัวออกมาในตัวรู้กับขันธ์น่ะค่ะ มันสามารถเห็นได้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  เห็น มีปัญญามากมันก็เห็นเองน่ะ  ขันธ์ห้าส่วนขันธ์ห้า กายใจส่วนกายใจ ...จนกว่ามันจะหมดสิ้นกระแสโยงใยกันน่ะ  

ถ้ามันตัดกระแสที่มันมีเยื่อมีใย มีโยงมีใยกับขันธ์ห้าได้  มันก็ขาด ขันธ์ห้ามันก็ขาดหลุดลอยไป แต่ตราบใดที่มันยังเป็นขั้นลอย แต่ยังไม่ขาดสิ้นเยื่อใยโยงใยนี่ ...เดี๋ยวมันก็ดึงเข้ามาเกลือกกลั้วกัน

ก็ทำไป ละไป ตัดไป ทอนไป ลดไป ...มันก็ค่อยๆ ขาดไป สั้นไป สะบั้นไป หลุดไป  จนขันธ์ห้ามันหลุดลอย ไม่หวนคืน เพราะไม่มีโยงใย

เพราะธรรมชาติของกายกับใจนี่ มันไม่โยงใยกับอะไรอยู่แล้ว เป็นเอกธาตุเอกธรรม เป็นบริสุทธิ์วิสุทธิธรรม ไม่โยงใย ไม่มีเยื่อใยกับอะไรเลย ...กายใจไม่เคยมีเยื่อใยกับอะไรเลย

มีแต่ขันธ์ห้านี่ มันมีเยื่อ มันมีใย  มันทิ้งแล้วมันก็ยังเหลือเยื่อใยอยู่ ทีนี้มันก็มามั่วเอาตอนที่มันรวมเอากายใจเป็นขันธ์ห้าด้วย แล้วมันก็เลยเกิดความสับสนไปหมด เป็นเรา เป็นทุกข์ในเรากับกายบ้าง


โยม –  ถ้าเช่นนั้นจริงๆ นี่ ตัวขันธ์เขาก็ทำงานไปใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ถ้ามีกาย...ก็มีขันธ์


โยม –  ค่ะ แต่ว่ามันจะมีบ้างว่ามันไปรวมเป็นเราหรือเปล่าแค่นั้นเอง เพราะนั้นที่ตรงนี้จึงจะเรียกว่าเป็นขันธ์บริสุทธิ์หรือคะ

พระอาจารย์ –  จะเป็นขันธ์อันบริสุทธิ์ได้นี่คือเป็นพระอรหันต์


โยม –  คือไม่ใช่จริงๆ ว่าไม่มีขันธ์ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  มี ทำไมจะไม่มี ...ท่านเรียกว่าธรรมขันธ์ ไม่ใช่กิเลสขันธ์  ไม่ใช่ขันธ์ของกิเลส เป็นธรรมขันธ์ ...ส่วนกายใจที่ดำรงคงอยู่ก็คือเป็นศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์

กายใจนี่จะเป็นศีลสมาธิปัญญาที่เป็นขันธ์...เหมือนกับเป็นขันธ์ แต่ว่าเป็นขันธ์ที่เรียกว่าเป็นศีลขันธ์ สมาธิ...ใจที่ตั้งมั่นเป็นกลางอยู่กับผู้รู้ ท่านเรียกว่าว่าเป็นสมาธิขันธ์

นี่ ที่มันดำรงอยู่กับกายใจนี่ จะเป็นศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ...ส่วนขันธ์การปรุงแต่งด้วยการคิดนึกอารมณ์นี่ ท่านเรียกว่าเป็นธรรมขันธ์ ธรรมธาตุธรรมขันธ์


โยม –  แล้วทั้งสองส่วนนี้ ตัวกายกับตัวขันธ์ตรงนี้...

พระอาจารย์ –  เป็นเอกเทศ แยกจากกันโดยสิ้นเชิง


โยม –  แล้วมันเป็นทุกขสัจเหมือนกันไหมคะ

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นหรอก ไม่มีอ่ะ...ไม่มี หมด ไม่มีทั้งอริยสัจ ไม่มีทั้งมรรค ไม่มีทั้งศีลสมาธิปัญญา ...ไม่มี ไม่มีเหลือ

เอ้า พอ

...................................





วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 17/30


พระอาจารย์
17/30 (580109C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
9 มกราคม 2558


พระอาจารย์ –  ลมนี่มันก็เป็นกาย แต่เป็นกายส่วนที่เรียกว่ากายละเอียด มันไม่สามารถจะมาเป็นเครื่องหมายแห่งศีลได้ต่อเนื่อง ...แต่ถ้าเอากายที่เป็นมวลน้ำหนักธาตุนี่...ธาตุหนัก มันได้

แม้แต่ธาตุไฟ ธาตุน้ำนี่ มันยังไม่มีอย่างต่อเนื่องได้เลย ...ไฟคืออุณหภูมิ ความอุ่น ความหนาว ความร้อน นี่ ยังจับได้อย่างโหย่งๆ เลย เหมือนลม ไม่สามารถจะจับคาแช่ได้

แต่ถ้าลงธาตุดินนี่แช่เลย ตึง แข็ง หนัก นี่ มันมีอยู่ คือมวลธาตุที่เป็นส่วนประกอบแห่งดินเป็นหลักนี่ ...ตรงนี้ถึงให้พยายามเอามาใช้เป็นที่ตั้งของจิต จิตมันถึงจะหยุดอยู่ได้ต่อเนื่องและยาวนาน อยู่ด้วยสมาธิ

พอมันอยู่ในธาตุดินหรือว่าธาตุหนักได้ จิตตั้งมั่นขึ้น เป็นสมาธิขึ้น แข็งแรงขึ้น มั่นคงขึ้น หนักแน่นขึ้นแล้ว ไม่หวั่นไหวไปมา ไม่ออกนอก ...อาการที่เป็นลม ไฟ น้ำนี่ มันเห็นเอง 

คือเวลาที่เขาปรากฏชัดเจน ก็จะเห็นเอง  เวลาเขาไม่ปรากฏอย่างชัดเจน ก็ไม่จำเป็นต้องไปเห็น ...แต่ว่ามันก็คาดินอยู่อย่างนี้ คาธาตุหนักอยู่อย่างนี้ เป็นฐานของศีลๆ 

นี่ จิตก็ไม่ไปไม่มา มันก็อยู่ในกองกาย ...ส่วนน้ำ ไฟ ลม ก็ถือเป็นอิริยาบถย่อย แยกแยะไป เกิดมาชั่วคราวแล้วก็ดับไป บางทีก็หายไปนาน ก็ช่างมัน ...แต่กายไม่หาย

ทีนี้กายใหญ่ กายหนัก กายธาตุ กายดิน ไม่หายไม่ไปไหน ...ส่วนไอ้กายที่ชัดในความเป็นไฟก็คืออุณหภูมิ  ลม...ก็เคลื่อนไปวูบมานี่ เดี๋ยวมีเดี๋ยวหาย เดี๋ยวหาไม่เจอ เดี๋ยวจับได้ลำบาก

เพราะนั้นถ้ามาจับอุณหภูมิกายโดยเอาไฟเป็นหลักนี่ จับไม่อยู่หรอก ว่ากำลังร้อน กำลังสบาย กำลังเย็น จับไม่อยู่ ...แต่มาที่กองดินแล้วนี่ มันมีความปรากฏอยู่ตลอด...อย่างชัด

เพราะนั้น ถ้าเคยฝึกทางลมมาก่อน ก็เอาลมมา ...แล้วก็อย่างที่เราบอกให้คู่กันไป คู่ไปกับความรู้สึกที่ ตึง แข็ง แน่น  เพราะว่าในทุกอิริยาบถใหญ่นี่ มันจะต้องมีอาการตึงแข็งแน่น เป็นรากฐานของอิริยาบถ 

เช่นนั่งนี่...ตึงแข็งแน่นตรงนี้ ตรงก้น ตรงขานี่ เป็นรากฐานของการนั่ง ความรู้สึกนี้ถือเป็นรากฐานของการนั่ง ...เวลายืนนี่ มันจะมีความรู้สึกของแข็งตึงแน่น ที่หัวเข่า หน้าขา ฝ่าเท้า เป็นความรู้สึกใหญ่ในอิริยาบถ

เวลาเดิน ก็เหมือนคล้ายๆ กับเวลายืน โดยมีความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นมาประกอบชัดขึ้น ก็คือการสืบ แกว่งไกวเท้า เวลานอน อิริยาบถก็ไปอยู่ที่แผ่นหลัง คอ หัว หัวไหล่ เวลาพลิก

เพราะนั้นเหล่านี้ ที่พูดนี่เพื่ออะไร ...เพื่อให้จดจำ จดจำความรู้สึกในแต่ละอิริยาบถใหญ่ เมื่อถึงเวลาเผลอเพลินหายไปนี่ แล้วมันสืบกลับมาที่อิริยาบถ..อย่างที่เราบอก กลับมาที่รูปก่อน รูปทรง

ทีนี้ก็ไม่ต้องไปค้นหาความรู้สึกแล้ว เพราะมันจำได้ เคยทำได้อยู่ตรงความรู้สึกตรงนี้  มันก็ไม่ต้องพะวักพะวนว่าจับความรู้สึกไหนดี ...คือมันก็กลับมาลงที่ความรู้สึกใหญ่ของอิริยาบถได้เลย

มันก็ย่นเวลาค้นหาแล้ว ว่าจะเอาอันไหนดี หรือจะไปกำหนดลมใหม่ดี ...ก็ลงที่ความรู้สึกใหญ่ของอิริยาบถเลย  มันก็เกิดความชำนาญ ชำนาญต่อการรับรู้ต่อความรู้สึกในกายมากขึ้น

ความลังเล ความกังวลในศีล ว่าตรงไหนดีๆ มันก็น้อยๆ ลงไป ...มันก็เกิดความแน่วแน่ในศีล แน่วแน่ในกาย แน่วแน่ในความรู้สึกของกาย โดยที่ไม่กังวลว่าถูกหรือผิด

เมื่อมันแน่วแน่ในศีลได้แล้วนี่ ต่อไปก็ต้องประคับประคองรักษาไว้ ไม่ให้มันจาง ไม่ให้มันหาย ไม่ให้มันหลงเพลินไปในที่อื่น ...นี่ ศีลก็งอกงาม สมาธิก็งอกงาม

สมาธิจะงอกงามไปเอง โดยไม่ต้องไปบีบบังคับให้จิตเป็นสมาธิเลย จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นๆ แนบแน่นขึ้นอยู่กับศีล อยู่กับความรู้สึกในตัวของตัวเอง โดยที่ไม่ไปใส่ใจในเรื่องราวใดๆ อื่นเลย

หรือถึงจะใส่ใจในเรื่องปัจจุบันตรงหน้านั้นบ้าง มันก็ยังไม่ทิ้งความรู้สึกในกาย เข้าใจมั้ย นั่นแหละจิตสมาธิ 


โยม –  มันจะเป็นความรู้สึกที่รู้อยู่ลึกๆ

พระอาจารย์ –  รู้อยู่ตลอด...แทบจะตลอด แล้วก็ทำงานก็ทำ คิดก็คิด ...แต่ว่ามันจะไม่ออกไปเต็มตัว ไม่ออกไปโดยทิ้งเนื้อทิ้งตัว ไม่ออกไปโดยทิ้งศีลทิ้งสมาธิ

แต่ถ้าออกบ่อยๆ แล้ว เดี๋ยวลืม เดี๋ยวเสร็จมันเลย ...เพราะว่าพวกเราจะทานอำนาจกิเลสไม่ไหวหรอก ปัญญายังเพิ่งฝึกหัดขั้นต้นนี่ เป็นไปไม่ได้เลย

เพราะนั้น อย่าพยายามหาเรื่องให้มันคิด อย่าพยายามหาเรื่องให้มันปรุงแต่งขึ้นมา โดยพากายหรือพารูป พาเสียง พากลิ่น พารส มาเข้าใกล้ตัวมัน นี่...เรียกว่าสำรวมอินทรีย์

เพราะนั้นถ้าไม่สำรวมอินทรีย์นี่ การทรงศีลสมาธิปัญญาไว้...ได้ไม่นานหรอก เข้ารกเข้าพงหมด เข้าไปมีไปเป็นในขันธ์ เข้าไปมีเป็นในสุขทุกข์ เข้าไปมีเป็นในถูก-ผิด คุณ-โทษ

เพราะนั้นถ้าจะทรงรักษาศีลสมาธิปัญญาให้มันนานต่อเนื่องนี่ มันก็ต้องอยู่ด้วยภาวะภายนอกคือสำรวมอินทรีย์ ...คำว่าสำรวมอินทรีย์ ก็คืออินทรีย์หก ตาหูจมูกลิ้นกายใจ

เมื่อเป็นการสำรวมอินทรีย์ ก็อย่าไปหาอะไรมาป้อนให้มัน หรือไปอยู่ในที่ที่มันจะถูกป้อนเข้ามาได้ง่าย ...เพราะนั้นก็พยายามอยู่คนเดียวให้เป็น


โยม –  แล้วอย่างเราถ้าไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ล่ะคะ หมายความว่า สิ่งแวดล้อมมันจำเป็นต้องอยู่หลายคน

พระอาจารย์ –  อือ ก็ไปนิพพานไม่ได้นะ บอกแล้วนี้คือทางเดียว ไม่มีทางเลือก ...แต่จิตก็มักจะหาข้ออ้างมาอย่างนี้  ไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่พร้อม ...งั้นพร้อมเมื่อไหร่ค่อยไปนิพพานแล้วกัน (หัวเราะกัน)

มันไม่พร้อม ...ก็ต้องทำให้มันพร้อม ไม่มีข้อต่อรอง บอกให้เลยนะ ...จะไม่มีไปนิพพานทั้งครอบครัวหรอก แบบแพ็คเกจพร้อมครอบครัวด้วย...ไม่มี

ไปคนเดียว ตัวคนเดียว ...กายเดียวใจเดียวไปได้ ครอบครัวติดไปไม่ได้ ก็ภาวนาตามหลังไปเถอะ ...แต่จะแบกเข้าไปทั้งครอบครัวน่ะ ไม่ได้..ไม่ได้ มันเป็นธรรมจำเพาะ

เพราะนั้นคือ เมื่อรู้แล้ว เข้าใจแล้วนี่  เราไม่ได้บอกว่าให้หักหาญ แต่ให้เข้าใจว่า นัยยะมันต้องเป็นอย่างนั้น ...แล้วค่อยๆ ไป adapt เอาเองแล้วกัน ใช่มั้ย

จะเอาขั้นแบบเบื้องต้น ท่ามกลาง หรืออุกฤษฏ์ ...อุกฤษฏ์น่ะก็บอกให้ได้ ง่ายมาก ไม่เห็นยาก ...แต่พวกเรามันไม่ไหวน่ะ มันก็ต้องค่อยๆ สโลปไปเรื่อยๆ 

ก็ให้เป็นไปในทางที่ค่อยๆ ถอยห่าง  อย่าเอามาแบกเป็นธุระเกินไป อย่าเอามาเป็นอารมณ์เกินไป  ค่อยๆ จาง จืดจาง เจือจางลง ...แล้วพอได้ช่องแล้วก็อย่าหวนคืนแล้วกัน

ได้ช่อง...คือว่าได้มีโอกาสอยู่คนเดียว หรือว่ามีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังนี่ ...อย่าไปหวนคืน ไปหาใหม่ ไปหาเหมือนเดิม ให้มีเป็นที่ห้อมล้อมอยู่กับชุมชน ผู้คน

เพราะมันเป็นทางที่ทำให้ศีลสมาธิปัญญานี่เสื่อมถอย และทำให้มีใหม่ขึ้นได้ยาก  เมื่อมีขึ้นด้วยความยากลำบากแล้ว รักษายิ่งยาก ...มันจึงเป็นเหตุที่ว่า ไม่มีอะไรนี่ได้มาง่ายๆ หรอก

ศีลสมาธิปัญญาก็ต้องได้มา แลกกับการสละ...ต้องมีการสละภายนอก ความอยากได้ มี เป็น  ความต้องการภายนอก อารมณ์แห่งสุขทุกข์ของเราภายนอก...ต้องสละ จึงจะได้มาซึ่งศีลสมาธิปัญญา

ให้สังเกตดูว่า ถ้ามันไม่สละภายนอกเลย เหมือนเดิม แบบเดิม...แล้วก็ทำศีลสมาธิปัญญาภาวนาแบบที่เราบอกด้วยพร้อมไป ...ศีลสมาธิของโยมจะได้แบบกระท่อนกระแท่น กะปริบกะปรอย

คือติดๆ ดับๆ  ดับมากกว่าติด หรือดับไปเลย...อันนี้เยอะ  เห็นมั้ย มันก็รู้ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แล้วทุกคนก็รู้ว่ามันจะต้องทำยังไง  แต่ไม่กล้าทำ ไม่กล้าสละ ...ไม่ใช่ไม่รู้

เอาง่ายๆ ไปเดินขึ้นดอยมาสองวันสามวัน ไปอยู่ในป่า ...จิตมันอยู่กับเนื้อกับตัวได้มากกว่าอยู่บ้านใช่มั้ย นี่ แล้วเสียงที่กรอกหูพวกโยมทั้งหลายก็คือเสียงเรา เพราะเสียงเรามันดัง 

และไอ้สิ่งที่ออกมาจากปากเราก็คือภาษาธรรม มันเป็นภาษาธรรม ...มันก็ได้รับรู้แต่สิ่งที่ค่อนข้างจะเป็นธรรม...โดยรอบภายนอกคือธรรมชาติ โดยเสียงก็คือภาษาธรรม ...มันจึงเอื้อต่อศีลสมาธิปัญญาภายใน

แต่พอลงมาแล้ว โยมกลับไปถึงเชียงใหม่หรือกรุงเทพนี่ ...การกลืนกินขันธ์ การดูดซึมอารมณ์มันมาก...พวกส้วมน่ะ พวกส้วมซึม ...มันก็ซึม ค่อยๆ ซึมเข้ามาแทนที่ศีลสมาธิปัญญา

มันมาแบบซึมๆ มาน่ะ ซึมซับ กินพื้นที่ของศีลสมาธิปัญญาไปทีละเล็กทีละน้อย จนค่อยๆ หายไป ก็มาเป็นลักษณะศีลสมาธิปัญญาแบบกะปริบกะปรอย 

คือเป็นพวกนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ  จะเยี่ยวออกสักทีก็เบ่งกันแทบตาย กว่าจะตั้งศีล-สติขึ้นมาได้...แทบตายเลย อย่างเนี้ย ...เนี่ย มันก็รู้ๆ กันอยู่ 

แต่พวกเรายังไม่กล้าที่จะทุ่มทุนทุ่มเท ยังมีอาการห่วงหน้าพะวงหลัง ด้วยกรรม ด้วยวิบากกรรม ...อยากทิ้งก็ทิ้งไม่ได้ อยากปล่อยก็ปล่อยไม่ได้ อยากหนีจากเขา อยากอยู่โดยอิสระก็ทำไม่ได้ 

เพราะว่ามันติดบ่วงแห่งกรรมที่เคยทำมา แล้วมันส่งผลมาเป็นปัจจุบัน ...เพราะนั้นตัวนี้ กรรมเหล่านี้ มันก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวๆ ที่จะต้องคงไว้อยู่ แล้วไม่กล้าละวาง ถอยถอนออกมา

เพราะนั้น เมื่อหากายได้แล้ว เจอแล้ว ชัดเจนแล้วว่าเป็นกายอันชอบอันควร ...อย่ามัวแต่สงสัยลังเล จับลงไปเลย เอาสตินี่จับลงไปเลย สติพาจิตนี่มาจับลงไป เอาให้แนบแน่น เอาให้แน่วแน่ลงไป

แล้วทุกอย่างก็จะค่อยกระจ่างขึ้นๆ ในความเป็นจริงของกายสิ่งที่กระจ่าง ไม่ได้ต้องการให้ไปกระจ่างในธรรมอื่น ...ต้องการให้กระจ่างในธรรมที่เรียกโดยสมมุติว่ากายนี้แหละ

ต้องให้กระจ่างที่สุดก่อน ...ถือว่าเป็นธรรมแรก ธรรมต้น หรือว่าเป็นธรรมแท้ ธรรมเดิม หรือธรรมจริง หรือว่าสัจธรรม ...ส่วนธรรมใหม่ ธรรมแปลก ธรรมดี ธรรมเลว ธรรมหน้า ธรรมหลัง เนี่ย ไม่เอา 

เอาธรรมแท้ เอาธรรมดั้งเดิม...คือกายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี่ ...เพราะว่าเกิดมากี่ภพกี่ชาติก็กายอันเดิมนี่แหละ ความรู้สึกอันเดิมนี่แหละ มันเป็นความรู้สึกดั้งเดิม แบบเดิม

ไม่ว่าจะเกิดมากี่ชาติ ...ถ้ามาเป็นคนต้องมีความรู้สึกอย่างนี้...ในการเดิน ในการยืน ในการนั่ง ในการนอน ในการกระทบกับสิ่งแวดล้อม หนาว ร้อน อ่อน แข็ง เนี่ย เรียกว่าเป็นธรรมเดิม

นี่ ต้องการให้แจ้งธรรมแท้ธรรมเดิม แล้วมันจึงจะเข้าใจในธรรมทั้งหลายทั้งปวง ...เอ้า มีอะไรจะถามอีกมั้ย


โยม –  ที่พระอาจารย์พูดถึง ตรงจิตที่มันตั้งมั่นนี่  ที่มันตั้งมั่นแล้วนี่ มันจะไม่รับรู้อะไร คือมันไม่ใส่ใจ แล้วจริงๆ ไอ้ตัวตั้งมั่นนี่เขาทำงานอยู่

พระอาจารย์ –  เขาก็ทำงานในที่เขารู้เขาเห็นเอง


โยม –  คือที่พระอาจารย์บอกว่า ตรงนี้มันจะเหมือนแค่มันรับรู้ แต่ว่ามันไม่ให้ค่าหรือความหมายเข้าไป เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็น...คือตรงนี้เขาจะมีความเป็นกลาง แต่ไม่ใช่เฉย ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  แค่เป็นกลางกับมันเฉยๆ นั่นน่ะ มันเกิดความสืบค้นอยู่ในตัวของมันเองน่ะ มันทำความกระจ่างในตัวของมันเองน่ะ


โยม –  แล้วก็ปล่อยวางโดยตัวของเขาเอง

พระอาจารย์ –  อือ ...ก็ถือไว้อย่างนี้ ไม่ต้องไปพูดไปหา ...พลิกไปพลิกมา ดูไปดูรอบ ดูบนดูล่าง ดูไปดูมา มันก็เข้าใจว่าอะไร มันก็คายออก ...ไม่ต้องไปหาคำอธิบายอะไร ดูให้มันทั่วแล้วกัน


โยม –  พระอาจารย์คะ ในลักษณะการที่มันเห็นในความเป็นธาตุนี่ค่ะ คือจริงๆ มันก็ไม่ได้มีภาษาว่าเป็นธาตุหรือเป็นอะไร คือตัวของมรรคนี่ เขาทำงานที่จะรู้เห็นตามความเป็นจริง

พระอาจารย์ –  บอกให้เลยว่า มันรับรู้ได้เอง ดูไปเถอะ มันรับรู้ได้เองว่าเป็นธาตุ โดยที่ไม่ต้องบอกว่าเป็นธาตุ ...มันรับรู้ได้เอง...เป็นปัจจัตตัง  ไม่เป็นธาตุก็เป็นธรรม มันจะรับรู้ได้แค่นั้น

เพราะว่าความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น มันรับรู้ได้อย่างนั้นน่ะ ว่าเป็นธาตุเป็นธรรม โดยที่ไม่ต้องบอกเลยว่า...เฮ้ย มันเป็นธาตุนะ เป็นธรรมนะ ...มันจะรับรู้ได้เองถึงความเป็นธาตุเป็นธรรม

ด้วยความสำเหนียก มันสำเหนียกในตัวของมันได้เลยว่า...เอ้ย มันแค่ธาตุธรรมนี่หว่า บางทีมันจะโพล่ง พูดขึ้นมาข้างในก็ได้ ...แต่มันรับรู้ได้ด้วยตัวมันเองเลยนะ ไม่ใช่ไปบอกให้เขารับรู้นะ

มันไม่ได้เกิดความรับรู้ขึ้นมาได้เพราะว่าฟังอาจารย์มา...ไม่ใช่เลยนะ ...มันจะรับรู้ แล้วรู้สึกได้เองเลยจริงๆ มันเป็นความรู้เองขึ้นมาจริงๆ ว่าเป็นธาตุ จริงๆ ...รู้สึกยอมรับความเป็นธาตุเลย

แต่ว่ามันยอมรับได้เป็นแค่ช่วงขณะหนึ่ง นี่ มันยังไม่พอ ...เพราะนั้นก็ทำไปบ่อยๆ จนมันถึงขั้นที่เรียกว่า หมด ละวางโดยสิ้นเชิง ก็คือว่าสมุจเฉท

เพราะนั้นในแต่ละความรู้สึกที่มันรู้สึก...“เออะ มันเป็นธาตุ ก้อนธาตุหรือก้อนธรรม” นี่ ลักษณะนี้เป็นแค่การปหาน...ปหานกิเลส ...ยังไม่ถึงขั้นสมุจเฉท

ทำไปเรื่อยๆ จนปหานครั้งนั้นน่ะเป็นสมุจเฉท ...จะรู้เองว่า จบแล้ว สิ้นแล้ว ในความหมายว่ากายนี้เป็นเราอีกต่อไป ปหานนั้นก็เป็นการปหานครั้งสุดท้ายของกายน่ะ...กับกิเลสที่มีต่อกาย

แล้วมันก็ยังไม่จบแค่กาย เพราะมันยังมีส่วนอื่นอีก ที่กิเลสมันยังผลิตเป็นมวลออกมา แต่ไม่ใช่ออกมาเป็นลักษณะกาย ...แต่กิเลสหรืออวิชชายังผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ล้ำยุคล้ำสมัยกว่ากายนี้อีก เรียกว่าละเอียดกว่าอีก ลึกซึ้งกว่าอีก


โยม –  มันจะเป็นลักษณะภาวะที่เป็นนามธรรม

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ เป็นธรรมที่จับต้องไม่ได้โดยทั้งภาษา โดยทั้งรูป เรียกว่าเป็นอรูป ...คำว่า อ-รูป นี่ มันเป็น อ-รูป ทั้งขันธ์ห้าน่ะ มันเป็นอีกลักษณะหนึ่งของขันธ์ห้าที่เป็นอรูปน่ะ

แต่บอกให้ว่ายังไม่ต้องไปก้าวไกลถึงนั้นหรอก เอากายให้จบก่อน ...ที่สำคัญคือกาย ยังไม่พูดเรื่องอื่นเลย ไม่งั้นมันจะเกิดความไปพะว้าพะวงในอนาคตธรรมเกินไป

ยังไม่ถึงหรอก ไม่ง่ายหรอก ...ยังก้าวข้ามกายไม่ได้ ยังก้าวล่วงกายไม่ได้ ยังมีแต่การล่วงเกินกายล่วงเกินศีลโดยกิเลสนี่...ไม่มีทางจะแจ้งกายได้หรอก

เพราะนั้น ปัญหาใหญ่หญ้าปากคอกคือ...กายนี้ยังเป็นเรา ...นี่คือตัวปัญหาหลักเลย กิเลสตัวหลักเลย ที่มันปิดบังธรรม ...ไอ้ตัวเรานี่ ไอ้ตัวเราที่มีต่อกายนี่ ตัวปิดบังธรรมเลย

เพราะว่าโลกทั้งโลกนี่ มันรับรู้ผ่านกาย คืออายตนะ ...เพราะนั้นเมื่อทุกอย่างมันรับรู้ผ่านกายโดยอายตนะนี่ ที่มันมีเจ้าใหญ่นายครองกายนี้คือ “เรา”  แล้วทุกอย่างในโลก...เป็นเรา โดยเราหมดเลย

ถ้ายังก้าวข้ามกายเรา..ตัวเราไม่ได้นี่ จะไม่แจ้งในโลกนี้เลย ว่ารูปคืออะไร เสียงคืออะไร กลิ่นรสคืออะไร ตามความเป็นจริง ความคิดนึกในอดีตอนาคต บุคคลนั้นบุคคลนี้ ...จะไม่เข้าใจเลย

มันก็เป็นเรื่องราวเรา-เขาหมดเลย จะผูกพันหมายมั่นอยู่กับขันธ์ห้าโดยตลอด โดยมีขันธ์ห้านี่เป็นตัวอ้างอิง อ้างอิงธรรมนั้นๆ บิดเบือนธรรมโดยขันธ์ห้า


โยม –  เวลาดูกายนี่ ต้องแยกกายออกจากเวทนารึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  คือถ้ามันแยกได้ก็แยก ถ้ามันแยกไม่ได้ก็ดูคู่กัน ไม่ต้องไปแยก ...แล้วก็พยายามตั้งมั่น ดูเฉยๆ กับกายนั้น เวทนานั้นไว้ ...พอเฉยกับทั้งกายทั้งเวทนาไว้มากๆ นานๆ นี่  เดี๋ยวมันแยกให้เห็นเอง 

ถ้าไปเจาะจง จงใจแยกมันโดยเจตนาจริงๆ น่ะ  จะฟุ้งซ่าน จะกังวล แล้วก็จะหงุดหงิดเพราะแยกไม่ออก ...แต่ถ้ามันแยกให้เห็นโดยชัดเจน ก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมันแล้ว อยู่คนละส่วนก็อยู่คนละส่วนไป

เอ้า ประมาณนี้ พอหอมปากหอมคอ ...เอาให้ถึงกายเอาให้ถึงใจแค่นั้นน่ะ ...ถึงกายไว้ก่อน ใจตามหลัง


(ต่อแทร็ก 17/31)