วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 17/38


พระอาจารย์
17/38 (580110G)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10 มกราคม 2558


โยม –  ท่านเจ้าคะ ไอ้ตัวจิตสังขารที่มันเป็นจิตปรุงแต่งคล้ายๆ ธรรมนี่น่ะค่ะ มันจะเป็นลักษณะความกระหยิ่มยิ้มย่อง ความภาคภูมิใจ อย่างนั้นใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ


โยม –  ก็ต้องเฝ้าคอยระมัดระวัง

พระอาจารย์ –  ดูเฉยๆ ...ก็มี ไม่ได้ไปห้ามอะไรมันหรอก ...ให้เห็น แล้วก็อย่าไปหลงระเริงกับมัน เดี๋ยวมันก็เห็นความเสื่อมไป สลายไป ดับไป


โยม –  เมื่อกี้ตอนอยู่ข้างนอก มันก็ยืนพื้นดูในกาย ขออภัยเจ้าค่ะหลวงพ่อ อันนี้พูดถึงเรื่องธาตุขันธ์นะเจ้าคะ คือเราก็เห็นความเมื่อยที่เท้า ไล่ขึ้นมาน่อง แล้วมันก็เป็นปวดท้องแบบผู้หญิงน่ะเจ้าค่ะ แล้วก็ไล่ขึ้นมา 

คือมันก็เห็นว่า เหตุแห่งกายนี่ ที่เราไปยึดมั่นอย่างนี้ มันจึงมีชายมีหญิง เมื่อชายหญิงนี่ มันนำมาด้วยกายนี่มันจึงทำให้เกิดเป็นเราเป็นเขาน่ะ มีรูปก็ยึดรูปเรา แล้วมันก็ยึดไปหมดทั้งของเราสารพัด 

กระทั่งทั้งหมดนี่ มันเป็นอย่างนี้มันมีแต่ความยึดโยง...ทางไหนล่ะที่มันจะหลุดจากความยึดโยง ...ก็เหมือนมันย้อนสืบกลับมา อยู่ที่บนนี้ บนพื้นฐานของกายกับใจ 

มันก็เลยมีปุ๊บขึ้นมาหนึ่งคำ เพราะฉะนั้นน่ะมันจึงต้องอินทรีย์สังวร สำรวมอินทรีย์อยู่ที่กายนี่ มันก็...เออ ให้ดำเนินอยู่ในนี้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ รวมธรรมให้เป็นหนึ่ง รวมศีลให้เป็นหนึ่ง ตรงนี้คือต้นตอสาเหตุของขันธ์ ต้นตอสาเหตุของกิเลส...อย่างหยาบ คือกายนี่

ถ้ามันรวมตรงนี้ มันก็แก้ความเห็นผิดที่กิเลสมีกับกายนี้ไป...ว่ามันไม่ใช่เรา มันเป็นธาตุ ธาตุคือธาตุ ไม่ใช่เรา ธรรมคือธรรมไม่ใช่เรา ...ให้มันเห็นลงไป เงียบๆ ลงไป

เพราะนั้นไอ้คำอธิบายในธรรมอะไรพวกนี้ มันก็เป็นองค์ประกอบ เข้าใจรึเปล่า ...แต่ไอ้การรู้การเห็น ความเข้าใจจริงๆ มันลึกซึ้งอยู่ในนั้น

แต่ไอ้ความเห็นนี่เป็นแค่สมมุติบัญญัติ พากย์ประกอบเท่านั้นเอง เพื่อให้เกิดความชัดเจนตามบัญญัติสมมุติ ตามที่อ่านที่ได้ยินมา เพื่อให้มันตรงตามบัญญัติตามสมมุติ ต่อธรรม

เพราะนั้นไอ้สมมุติบัญญัติ บางทีที่อ่านแล้วเข้าใจ มันไม่ตรงกับธรรม  แต่ตอนนี้สมมุติบัญญัติที่มันประกอบขึ้นมานี่ มันตรง เป็นสมมุติบัญญัติที่มันตรงต่อธรรม ...แล้วมันก็ทิ้งไป แค่นั้นเอง

แต่ไอ้ความรู้เห็นภายใน ลึกซึ้งภายใน เกิดความเป็นผล...เข้าใจ แยบคาย ปล่อยวาง ละคลายนี่ มันเป็นปัจจัตตัง


โยม –  มันเห็นอย่างนี้ คือถ้าเราออกจากกายใจ ไปอยู่กับขันธ์ แม้เพียงนิดนี่ ภพเกิด มันก็เลยเรียนรู้กลับเข้ามาว่า ถ้าไปอยู่กับภพน่ะ เกิดอีก มันก็กลับมาอยู่แค่นี้สิ แล้วก็ที่หลวงพ่อย้ำในวันนี้อีก มันก็เห็นชัดขึ้นเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  สลายภพ สลายชาติ สลายขันธ์ ...ถ้าสลายขันธ์น่ะ ภพก็สลาย ชาติก็สลาย  ถึงไม่สลายมันก็อยู่แบบบางๆ ยืนเหยียบหยัดไม่ได้นาน ...จนกว่ามันจะสิ้นภพสิ้นชาติ

ตอนนี้ก็ภพชาติมันยังมี ก็ค่อยๆ สลาย ...แต่ต่อไปนี่ ไม่มีภพให้สลาย คือมันสิ้นภพจบชาติ นั่นก็เรียกว่าที่สุด ขันธ์ห้าไม่สามารถมาสร้างภพสร้างชาติ ให้มีเป็นเราขึ้นมาในภพชาติได้

กิเลส...บอกแล้วว่ากิเลสมันใช้ขันธ์ห้าเป็นเครื่องมือ ถ้าไม่มีขันธ์ห้ามันสร้างภพไม่ได้ สร้างเราไม่ได้ ...ถ้าอยู่กับกายใจล้วนๆ นี่ ภพชาติเกิดไม่ได้เลย

เป็นธาตุ ธาตุคือธาตุ เกิดตรงไหน ตั้งตรงไหน ดับตรงนั้น จบ มันจบอยู่..ทุกปัจจุบันๆ ไป ...ส่วนใจนี่ไม่มีวันจบคือไม่เกิดไม่ดับ

จนกว่าอวิชชาที่มันห่อหุ้มใจนี่ หมด หมดปุ๊บนี่ ตัวที่บิดเบือนธรรมก็หมด ตัวที่สร้างขันธ์ไปบิดเบือนธรรมนี่หมด อวิชชาหมดเมื่อไหร่ ขันธ์ก็หมดเมื่อนั้น

ไม่มีอะไรไปบิดเบือนธรรมแล้ว ทุกการรู้ทุกการเห็นก็ตรงต่อธรรมแบบไม่มีคลาดเคลื่อนเลย นี่ เป็นผู้ตรงต่อธรรม รับรู้ธรรมโดยตรง

ไม่งั้นมันถูกขันธ์มันหลอก คลุม แล้วก็บิดเบือน เป็นนั้นเป็นนี้เป็นโน้น เป็นชายเป็นหญิง เป็นดีเป็นร้าย เป็นถูกเป็นผิด เป็นสวยเป็นงาม เป็นไม่สวยไม่งาม พวกนี้มันบิดเบือนไปขันธ์หมด

กิเลสมันบิดเบือน พอบิดเบือนปุ๊บมันก็หมายเป็นอารมณ์ขึ้นมาตามที่มันบิดเบือน สวยงามก็เป็นพอใจ ไม่สวยก็เป็นไม่พอใจ ...มันก็หมายนี่เป็นอารมณ์ขึ้นมา กิเลสก็เกิดขึ้น

เพราะนั้นกิเลสจะเกิดในขันธ์ ไม่เกิดในกายใจ ...มีขันธ์เมื่อไหร่ กิเลสอยู่ในนั้น เป็นกองกิเลสเลยล่ะ กองขันธ์นี่น่ะกองกิเลสเลยแหละ กองเดียวกัน 

มันอยู่ด้วยกัน อาศัยกัน เป็นปัจจยาการเนื่องกัน ปฏิจจสมุปบาทคือขันธ์ห้านั่นแหละ

ขันธ์ห้าเป็นทุกข์ ไม่ต้องไปดูอะไรเลย ละเลย ไม่ต้องไปพิจารณาอะไรเลย รู้ว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์ ละเลย วางเลย ...วางแล้วดับก็ดี วางแล้วไม่ดับก็ช่าง วางก่อน อย่าไปยุ่ง

แล้วมาถือศีลถือกายไว้ ยึดไว้ เหนี่ยวไว้ รั้งไว้ เกาะกุมไว้ กอดกุมไว้ ปักหลักความมั่นคงไว้ นั่นล่ะ ขันธ์ห้ามันก็เริ่มหลอกยากขึ้นแล้ว ...เอ้า ทำไปเหอะ

(ถามโยมอีกคน) นี่มาจากเมืองนอกรึเปล่า กลับวันไหน


โยม –  กลับวันที่สิบสามค่ะ ...อยากถามพระอาจารย์สั้นๆ ว่า เพิ่งเริ่มปฏิบัติค่ะ ท่านอาจารย์เห็นว่าจะมีอะไรแนะนำบ้างคะ

พระอาจารย์ –  ไม่มีอะไรหรอก เตือนตัวเองบ่อยๆ อย่าล่องลอย อย่าปล่อยล่องลอย อย่าไปนั่งคิดพิจารณาอะไร ...ใช้ความคิดให้น้อย อยู่กับเนื้อกับตัวให้มาก

น้อมกลับมา ถามตัวเอง “ทำอะไรอยู่” บ่อยๆ ...การที่ถามตัวเองนี่เป็นอุบายเจริญสติในกาย ให้ถามบ่อยๆ แล้วให้กลับมาเห็นรูปทรงตัวเอง ท่วงท่า ท่าที

ส่วนอาการในจิต...ไม่ต้องไปข้องแวะ มันจะเป็นยังไง ช่างหัวมัน เหมือนกับเรื่องของมัน อย่าไปยุ่งๆ ...มันจะมี มันจะเป็น มันจะเกิดอารมณ์ มันจะดี มันจะไม่ดี

หรือมันจะมีความขุ่นข้องหมองใจ มันจะมีอารมณ์หนักเบาน้อยใหญ่ ...ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องเข้าไป manage  แค่คิดจะเข้าไป manage มัน...ก็ไม่เอา เหมือนแยกไว้เป็นกองส่วนหนึ่ง

แล้วก็มาปักหลักลงที่ว่า กายกำลังทำอะไรอยู่ เอาตรงนี้ ...จนกว่ามันจะเกิดความยินยอมพร้อมใจในการที่จะเอาจำเพาะกาย อย่างอื่นไม่เอาเลย นั่นแหละ จิตมันเริ่มมั่นคงขึ้น จะมั่นคงและตั้งมั่นขึ้นเอง

เพราะว่าเราน้อมลงมาที่เดียวที่เดิม...ที่เดียวคือปัจจุบัน ที่เดิม คือกาย ที่เดียวที่เดิมๆๆ ย้ำซ้ำๆๆ อยู่อย่างนี้ ...จิตมันไปไม่ได้หรอก มันหนีไม่ออก หนีไม่ไกล ไปไม่พ้นกายนี้หรอก 

นี่ จิตก็จะเริ่มเกาะกลุ่มรวมตัว..เกาะกลุ่มรวมตัว...นั่นน่ะที่ว่าสมาธิเริ่มก่อตัวขึ้น ...แต่ถ้าไปอย่างนู้นอย่างนี้สะเปะสะปะไป มันไม่มีทางหรอกที่จะเกิดความตั้งมั่น 

พอจิต...ถ้าลิ้มรสความตั้งมั่นได้ปุ๊บนี่ มันจะมีความสุขแห่งสมาธิเกิดขึ้นเอง อานิสงส์แห่งสมาธิก็จะเกิด ...มันจะรู้เลยว่า เทียบไม่ได้เลยกับการที่จิตร่อนเร่ไปมา

การไปคิดเรื่องนั้น คิดถึงเรื่องนี้ คิดถึงใครคนโน้นคนนี้ หรือไปในเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ...มันจะรู้เลยว่าจิตที่อยู่ในอาการนั้น กับจิตที่อยู่ตรงนี้เฉยๆ นี่ มันต่างกัน

มันจะเห็นคุณค่าของสมาธิ จะเห็นคุณค่าของศีล ...แล้วต่อไปเมื่อยิ่งเกิดปัญญาขึ้น มันจะยิ่งเห็นคุณค่าของศีลสมาธิปัญญา เห็นจิตที่อยู่ในศีลสมาธิปัญญานี้มีคุณค่า

แล้วทีนี้มันจะไม่นิ่งดูดายต่อศีลสมาธิปัญญาเลย มันจะหวงแหนรักษา ระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ศีลสมาธิปัญญานี้บกพร่องลงไป แล้วก็กลับไปคืนสู่อาการเดิม คือคิดไปเรื่อย

นั่นน่ะ ทั้งหมด...เริ่มตรงนี้ เริ่มที่กาย...จบที่กาย


...............................





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น