วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 17/35 (1)


พระอาจารย์
17/35 (580110D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10 มกราคม 2558
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  จะต้องมาแก้ความเห็นผิดในกายนี้ให้ได้เสียก่อน ...ถ้าแก้ความเห็นผิดในกายนี้ไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเข้าไปสู่เบื้องลึกถึงนิพพาน

เพราะที่เรามาเกิดมีกายมาเป็นคน มาเป็นสัตว์...ก็เพราะมันมาติดข้องในกายนี้ ...แล้วแท้ที่จริงมันไม่ได้ติดข้องในกายด้วยซ้ำ แต่มันไปติดข้องในรูปกาย...โดยเข้าใจว่ารูปกายนั้นน่ะเป็นกาย

มันก็เลยติดกายไปทั้งกระบิเลย ไม่สามารถก้าวข้ามพ้นกายนี้ได้ ไม่สามารถก้าวข้ามพ้นรูปกายนี้ได้ ...ก็มาติดที่รูปดี รูปสวย รูปงาม รูปไม่งาม อันเนื่องจากรูปในกาย...มาจากกายนั่นเอง

เพราะนั้นถ้าไม่มาทำความแจ้งในรูปในกายนี้ ไม่มีทางหรอกที่จะหลุดพ้น...จากการเกิดมาเป็นคนซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือเป็นสัตว์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

มาเป็นสุขเป็นทุกข์ในการหาอยู่หากิน หาหลับหานอน หาเที่ยวหาเล่นกันอยู่นี่ เพราะมีกายนี่แหละ ...ถ้าไม่มีกายมันก็ไม่ต้องมาอยู่มากิน มาหิวมาร้อนมาหนาวอะไรอีกแล้ว

เนี่ย มันมาจากความเห็นผิดในกาย เห็นกายเป็นรูป เห็นกายเป็นรูปเรา เห็นกายเป็นรูปเขา ...แล้วไม่คิดอ่านแก้ไขเลย ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้นน่ะ ...มันก็เกิดมาเปล่าๆ ปลี้ๆ

เพราะนั้นถ้าภาวนาแล้วก็มุ่งตรงลงไปที่กายอย่างจริงๆ จังๆ ...ด้วยการภาวนานี่..มันจึงจะค่อยๆ สืบค้นความเป็นจริงของกายอย่างแท้จริงขึ้นมา

นี่แหละที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านถึงกล่าวไว้ว่า...ศีลนี่คือรากฐานของการปฏิบัติ เป็นแก่นสารของธรรม เป็นรากฐานของธรรม เป็นที่รองรับธรรม

เพราะนั้นจุดเริ่มต้น จุดตั้งต้นจึงต้องอาศัยกายนี่เป็นที่กำหนด ต้องอาศัยกายหรือต้องอาศัยศีลนี่เป็นที่กำหนด ยึดหยั่ง และเรียนรู้ ...รู้แล้วรู้เล่า รู้แบบเดิม รู้อย่างเดิมนี่แหละ

กายอันเก่า กายอันเดิมนี่แหละ  นั่งก็นั่งแบบเดิม ความรู้สึกแบบเดิม ยืนก็ยืนแบบเดิม ความรู้สึกแบบเดิม เดินก็เดินอย่างเดิม เดินอย่างเก่า ความรู้สึกอย่างเก่า

มันก็ซ้ำเดิมอยู่ในยืนเดินนั่งนอน ก็ความรู้สึกเก่าๆ อันเก่าเดิมๆ นี่แหละ ...มันไม่ได้ประหลาด ไปทำให้มันแปลกใหม่ ประหลาด มหัศจรรย์ขึ้นมาในอาการต่างๆ หรอก

ก็ความรู้สึกอันเก่านั่นแหละ วูบๆ วาบๆ ตึกๆ ตักๆ หน่วงๆ หนักๆ ทึบๆ หนาๆ อะไรอย่างนี้ ...ดูมัน วนมัน รู้มัน เห็นมัน โดยไม่ต้องคิด โดยไม่ต้องไปสงสัย

โดยไม่ต้องไปค้นหา ไม่ต้องวิเคราะห์เจาะจงอะไร โดยภาษา โดยบัญญัติ โดยสมมุติ ...มันปรากฏความรู้สึกอย่างนี้ก็รู้อย่างนี้ มันปรากฏความรู้สึกอย่างนั้นก็รู้อย่างนั้น

จะมากจะน้อยก็ไม่ว่า รู้ไป ดูไป เห็นไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก ภาวิตา พาหุลีกตา...ภาวนาซ้ำๆ ซากๆ อยู่ในที่เดิมที่เดียว รู้เห็นอยู่ในที่เดิมที่เดียว

มันก็ค่อยๆ เกิดความลึกซึ้งขึ้นในการรู้การเห็นต่อกายนี้เอง..โดยปัจจัตตังเหมือนมันจะเกิดเป็นพุทธิภาวะขึ้นมาว่า... เอ๊ะ เออ มันไม่ใช่เราจริงๆ ว่ะ

นี่คืออานิสงส์ของการภาวนา มันจะเกิดพุทธิปัญญาขึ้น เป็นขณะๆ ไปบ้าง หรือเป็นโดยตลอดสายบ้าง แล้วแต่กำลังความเพียรในศีลสมาธิปัญญา

ก็พากเพียรบากบั่นทำไป ไม่ย่อท้อ ไม่หยุดยั้ง ...ไม่วันใดก็วันหนึ่งน่ะ ยังไงๆ มันไม่หนีไปไหนหรอก การหมดสิ้นไปซึ่งความหมายมั่นในกายจนได้

นั่นล่ะเป็นหน้าที่ของพระเลยโดยตรง เพราะว่าพระไม่มีหน้าที่อื่นเหมือนญาติโยมฆราวาสเขา ...มันมีเวลาทั้งวันน่ะ ถ้าเอาเวลาทั้งวันนั่นมาทำอย่างที่เราบอกนี่ มันจะไม่นิพพานในชาตินี้ เป็นไปได้ยังไง

แต่เวลาที่ผ่านมาแต่ละวันในหนึ่งวัน มันหมดไปกับอะไร มันหายไปกับอะไร มันไปอยู่ที่ไหน ...มันอยู่ในศีล มันอยู่กับศีลได้เศษเสี้ยวหนึ่งไหม...ในหนึ่งวันนี่ มันอยู่ในองค์สมาธิได้กี่นาที

มันเอาเวลาไปทำอะไรกันอยู่ ...ไปเล่น ไปคุยเหรอ ...มันได้มรรคได้ผลไหม มันได้ศีลสมาธิปัญญางอกงามพอกพูนขึ้นไหม หรือมันได้กิเลสมาเป็นหางว่าวเลย

ได้อารมณ์ ได้ความขุ่นข้อง ได้ความสนุกเฮฮา ได้ความติดและข้องในอารมณ์  ได้ความอยาก ได้ความไม่อยาก ได้ความพึงพอใจ ได้ความไม่พอใจ

เห็นมั้ย เวลานี่...ให้สำรวจดูตัวเอง มันหมดไปกับอะไร หมดไปกับความนึกคิดปรุงแต่ง ล่องลอยไปในอดีตในอนาคต หรือบางทีก็ล้ำไปถึงกิจบ้านการเมืองนั่น

ทำไมมันไม่หมดเวลาไปกับศีลสมาธิปัญญา พากเพียรเจริญสติ บากบั่น ...เพราะนั้นในกิจวัตรของพระปฏิบัติสายกรรมฐานนี่ บิณฑบาต ฉันเสร็จ ล้างบาตร...นอน..หรือเปล่า

บิณฑบาต ล้างบาตรเสร็จ เดินจงกรม ...เดินจงกรมเมื่อย นั่ง  จะนั่งไขว้ขา จะนั่งสมาธิ จะนั่งหลับตาลืมตา นั่งผ่อนคลาย...อยู่ ทรงไว้ คงไว้ซึ่งความรู้ตัว

พอเริ่มฟุ้งพอเริ่มปรุง เดินต่อ จงกรม ...เดินสักสองชั่วโมง มันคงไม่ตายหรอกมั้ง ...ก็เดิน เดินเมื่อยสองชั่วโมง นั่งชั่วโมงหนึ่ง เห็นมั้ย บ่ายสามแล้ว ตีตาด

ตีตาดเสร็จชั่วโมงหนึ่ง ฉันน้ำร้อน ปาณะ ...อย่าไปคุย อย่าไปปากมาก กินก็รีบๆ กินไป  รีบๆ ฉัน กำหนดอิริยาบถ กินกลืน เป็นปรมัตถ์ จิบไป กลืนไป

กินเสร็จอาบน้ำ สรงน้ำ ทำวัตร นั่งสมาธิโดยส่วนรวม เสร็จ ก่อนเข้ากุฏิ เดินจงกรม ไม่ขึ้นนอน เดินอีกสองชั่วโมง นั่งอีกชั่วโมง เที่ยงคืน ...ตีสามตี่สี่ตื่น

เนี่ย ถ้ามันวนเวียนทำอย่างนี้ เป็นกิจวัตร เป็นหน้าที่ของพระนี่ กายกับจิต กายกับใจนี่ มันจะไม่อยู่ด้วยกันได้อย่างไร หือ มันพากเพียรรักษาอยู่ในท่าทางของการภาวนาอยู่ตลอด

วนเวียนๆ อยู่แค่นี้ จิตมันจะหนีจากกายไปได้สักเท่าไหร่ ...มันไปมันก็ไปได้พล้อบๆ แพล้บๆ มันก็ถูกเรียกกลับดึงกลับมาอยู่ ด้วยท่าทางของการภาวนาอยู่ตลอดเวลา

ครูบาอาจารย์ท่านก็ทำของท่านมากันอย่างนี้ พากเพียร มีชีวิตอยู่บนทางจงกรมกับที่นั่งสมาธิมากกว่าที่นอนที่หลับ ดำรงคงอยู่ซึ่งจิตรู้จิตตื่นต่อกาย เบื้องหน้าคือกาย อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว หนาวร้อน อดอิ่ม

ความรู้ความเห็นต่อธรรม ความรู้ความเห็นที่มีต่อกายใจ ความรู้ความเห็นต่อความเป็นจริงทั้งหลายทั้งปวง มันก็พรั่งพรูออกมาเหมือนน้ำบ่อบาดาลที่เราเจาะไปแล้วเจอตาน้ำมันผุดออกมาน่ะ

นี่ ให้เกิดความกระจายธรรม จำแนกธรรม ละเอียดลออในธรรม อย่างไม่มีอับไม่มีจน ไม่มีตันในกิเลสตัวใดตัวหนึ่งที่จะมาปิดมาบัง มาขัดมาขวางเลยน่ะ ...มันมีความลุล่วงไป

เพราะนั้นพวกพระพวกชีอะไรที่เห็นๆ กันนี่ อายุยังอ่อนยังน้อย ยังมีเรี่ยวแรงให้นั่งสมาธิเดินจงกรมได้ ...เดินทั้งวันยังได้เลยน่ะ หนุ่มสาวขนาดนี้

อย่าไปขี้เกียจขี้คร้าน เดินไปเถอะจงกรมน่ะ  จะได้อะไร จะไม่ได้อะไร ก็เดินไปนั่นแหละ ...รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ก็ดีกว่าไปนอนน่ะ จิตมันไปก็ไปไม่ไกลน่ะ

ระหว่างทางจงกรมแล้วก็คิดถึงคนโน้น คิดถึงคนนี้บ้าง ก็ดึงกลับมา ออกอีกก็ดึงกลับมาอีก ...ยังมีประโยชน์ไปนั่งๆ นอนๆ เล่นๆ หัวๆ กายก็ได้ออกกำลังบริหารไปด้วย อาหารย่อย ไม่อ้วน

กำลังแข้งกำลังขาก็ดี ขึ้นดอยก็ไม่มาโอยๆ ตายแล้ว เหมือนไอ้คนพวกไม่เดินจงกรม แข้งขามันอ่อน ไถลพรูดก็รวดลงเหวนั่น ยั้งอะไรไม่อยู่น่ะ ตีนไม่มีแรง นอนทั้งวันนั่งทั้งวันนี่

ให้กายมันอยู่ในท่าทางภาวนาบ้าง อย่าไปอยู่ในท่าทางของโลกมาก กิเลสมันจะได้ใจ คิดนึกปรุงแต่ง ...มันเป็นสันดานอยู่แล้ว

ปล่อยไม่ได้นะ...ปล่อยสติ ปล่อยศีลไม่ได้นะ ...ถ้าปล่อยเมื่อไหร่ปึ้บนี่ ไปแล้ว คิด...จิตนี่ ไวปานลิง พั้บไป หายปึ้บหายปั้บ ไปเลย

การภาวนาก็คืออย่างนี้ เอาสติมา เอาล่อเอาเถิดอยู่กับจิตนั่นแหละ ...มันจะไปเมื่อไหร่ก็ไม่ให้ไป ไปแล้วก็ให้ทัน ทันแล้วก็ให้กลับ กลับแล้วก็ให้อยู่...อยู่กับกาย อยู่กับศีล

ทำมันอยู่อย่างนี้ จนกว่ากำลังแห่งความพากเพียรในสติสมาธิศีลนี่ มันชนะ หรือมันเหนือ...เหนือความปรุงไปมาของจิต ...นี่เรียกว่าอบรมจิตให้อยู่ในศีล ให้อยู่ในกรอบปัจจุบัน

เพราะจิตถ้าไม่อยู่ในกรอบของศีล ถ้าไม่อยู่ในกรอบของปัจจุบันนี่ ถือว่าเป็นจิตที่ต่ำและทราม คือจิตที่มันจะหลอกลวง สร้าง ปรุงแต่งขันธ์ห้าขึ้นมา

เมื่อมันปรุงแต่งขันธ์ห้าขึ้นมานี่ ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้านี่ มันมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มันติดข้องในขันธ์ห้านี่มันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เป็นสันดานอยู่แล้วนี่

ถ้าไปปล่อยให้มันปรุงตามสบายใจของมัน แล้วก็สร้างขันธ์ห้าขึ้นมา อุปโลกน์ขันธ์ห้าขึ้น อุปาทานขันธ์ห้าขึ้นมาบ่อยๆ ตลอดเวลา ...ไอ้ที่มันติดอยู่แล้ว มันก็จะเข้าไปพัวพันมัวเมาอยู่ในเรื่องราวในขันธ์ห้านั้น

แต่การที่มันหยุดจิตด้วยสมาธิ ด้วยศีล ด้วยสตินี่  มันทำให้การปรุงแต่งในขันธ์ห้านี่ มันระงับ ...แค่ระงับ ยังไม่สามารถละวางขันธ์ห้าด้วยความเต็มใจ เรียกว่าแค่ระงับยับยั้ง

เพราะถ้าไม่ระงับยับยั้งการปรุงแต่งในขันธ์ห้าไว้นี่ มันจะไม่เกิดความรู้ความเห็น มันจะไม่เกิดความเข้าใจตามความเป็นจริง กับสิ่งที่มีอยู่จริงได้เลย

เพราะอะไร ...เพราะว่าขันธ์ห้าน่ะเป็นสิ่งที่ไม่จริง เป็นสิ่งที่ไม่มีจริง เป็นสิ่งที่หลอกลวง เป็นสิ่งที่เป็นผลิตผลผลิตภัณฑ์ของอวิชชา เป็นของปลอม เป็นของเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระแก่นสารใดๆ เลย


(ต่อแทร็ก 17/35  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น