วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 17/33


พระอาจารย์
17/33 (580110B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10 มกราคม 2558


พระอาจารย์ –  ทิ้งกายเมื่อไหร่ ทิ้งปัจจุบันเมื่อไหร่...เคว้งคว้างหมดน่ะ  

มันตกอยู่ในภาวะเคว้งคว้างหมด ...เคว้งคว้าง ล่องลอย ส่ายไปเจออะไร ได้ตรงไหนก็จับอันนั้น ...มันจะอยู่ในอาการนั้น นั่น จิตมันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร

ก็บอกว่า ตั้งอยู่ในที่อันเดียว ...จิตที่เป็นสมาธิมันตั้งอยู่ในที่อันเดียว ไม่เปลี่ยน ไม่เคลื่อน ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ไปไม่มา กับสิ่งต่างๆ ที่มันขึ้นลงไปมาอยู่ตลอด

เพราะนั้นในกายนี่ ความรู้สึกตรงไหน...ในการนั่ง ในการยืน ในการเดิน ที่มันเด่นชัดน่ะ...ให้จรดไว้ จรดตรงความรู้สึกนั้นไว้ อย่าเคลื่อน

จะรู้จะเห็น จะเข้าใจมัน จะไม่เข้าใจมัน จะเกิดปัญญาหรือไม่เกิดปัญญา...อย่าให้มันเคลื่อนก่อน ให้มันหยุดจริงๆ ให้มันเป็นสมาธิ ให้มันตั้งมั่นกับความรู้สึกนั้นจริงๆ ...เป็นหนึ่งเดียวกัน 

เรียกว่าจิตหนึ่งกายหนึ่ง..กายหนึ่งจิตหนึ่งอยู่อย่างนั้น ...ไม่ไปสองสามสี่ห้า ไม่ไปวอแว ไม่ไปเหลาะแหละโลเล ไม่ไปเอานั้นเอานี้ ...ให้มันกายหนึ่งจิตหนึ่งอยู่อย่างนั้น แนบแน่นอยู่อย่างนั้นน่ะ

จนมันตั้งมั่นขึ้นมา แล้วก็จะค่อยๆ เข้าใจเองน่ะ ว่าความรู้สึกก็คือความรู้สึก ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ...ความรู้สึกในกายก็คือความรู้สึกในกาย เป็นความมีความเป็นของธาตุ ไม่ใช่สัตว์บุคคล

แล้วอาการของจิตที่มันส่ายแส่ไปมาตามฐานต่างๆ ก็ค่อยหดๆๆ เองน่ะ ...แต่ทีนี้ส่วนมากมันจะพากันไปจดจ้องอยู่ที่จิตเป็นหลักกันเลยน่ะ มันก็ไม่เกิดความรู้อะไรหรอก

อย่างนี้มันก็จะจดจ้องได้แต่สภาวะจิต เห็นสภาวะจิตแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมา ...มันไม่ได้ความรู้ความเข้าใจอะไรในความเป็นจริง ไม่ได้เรียนรู้ความเป็นจริงเลย

ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ศีลนี่เป็นของจริง ศีลนี่มีอยู่จริง แล้วเป็นของจริง ...แต่มันกลับไปเรียนรู้อะไรที่ไม่จริง

จิต..ก็บอกอยู่แล้วว่าคือความปรุงแต่ง มันปรุงแต่งขึ้นมาใหม่ แปลว่าไม่ใช่ความเป็นจริง ...มันคอยแต่งขึ้นมาอยู่ตลอด ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ใช่ของจริงอะไร

แต่พระพุทธเจ้าท่านยืนยันว่า ศีลเป็นของจริง มีอยู่จริง จับต้องได้ ...เพราะนั้นท่านถึงบอกให้ตั้งมั่นอยู่กับศีล ให้เอาศีลนี่เป็นฐาน ให้มั่นคงกับศีล ให้แนบแน่นกับศีล

ศีลไม่ใช่เป็นอะไรที่มันจับต้องไม่ได้ มันจับต้องได้ มันปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน มันมีอยู่อย่างชัดเจน ...มันมีโดยตัวของมันเองด้วย ไม่ใช่มีเพราะใครทำ ไม่ใช่มีเพราะจิตสร้าง

ไม่ใช่มีเพราะความปรารถนา ความอยาก ความไม่อยาก  ไม่ได้มีเพราะอารมณ์มันก่อรวมตัวขึ้น...ไม่ใช่ ...มันเป็นของจริงที่มีอยู่แล้ว ท่านบอกว่าเนี่ย ของจริง

แล้วปัญญา ท่านก็บอกอยู่แล้วว่าเรียนรู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปเรียนรู้กับตามความที่ไม่จริง ...เพราะนั้นตัวขันธ์ห้านี่ ท่านบอกว่าไร้สาระ เหมือนขยะน่ะ

ท่านบอกว่าให้วาง ให้ปล่อยวางขันธ์ห้า ให้ละวางขันธ์ห้า ...ท่านไม่ได้บอกให้เอาขันธ์ห้ามาเป็นที่อยู่ที่อาศัย หรือเป็นที่ก่อกำเนิดธรรมอะไร

ถ้าเปรียบขันธ์ห้าเหมือนขยะ เหมือนกองขยะ เหมือนอาหารบูดเน่าที่ทิ้งแล้วอย่างนี้ ...แล้วเราไปคุ้ยเขี่ยกินกับมันน่ะ มันไม่มี...มันไม่มีสาระ มันไม่มีประโยชน์ มันมีแต่โทษกับภัย

แต่อาหารหลักที่ควรกินกันทุกวันนี่ แล้วให้มีพละกำลังเติบโตแข็งแกร่ง ก็คือศีลสมาธิปัญญา นั่นคืออาหาร ...ไม่ใช่ของบูดเน่าของทิ้งของเสีย เนี่ย ท่านถึงบอกว่าขันธ์ห้าเป็นทุกข์

ท่านถึงบอกว่าให้วางซะ เพราะขันธ์ห้ามันเป็นทุกข์ อย่าไปหลงในขันธ์ห้า อย่าไปวุ่นวี่วุ่นวายสับสนอลหม่านกับขันธ์ห้า เพราะว่ามันไม่มีอยู่จริง ...ท่านว่าไว้อย่างนี้

มันเป็นของที่ไม่มีอยู่จริง มันเป็นแค่อุปโลกน์ขึ้นมาโดยจิตอวิชชา มันอุปโลกน์ คืออุปาทานน่ะ คือหมายมั่นขึ้นมาอย่างนั้นเอง ...มันไม่มีอะไร แท้ที่จริงมันไม่มีอะไร

แล้วจะไปดูอะไรกับมัน ...ท่านให้ละมันเลยน่ะ ละอย่างที่เรียกว่าไม่ต้องกังขา อาลัยอาวรณ์กับมันน่ะ

เมื่อละวางขันธ์ห้าบ่อยๆ ไม่ไป ไม่ตาม ไม่ไปดู ไม่ไปแลมัน ไม่ไปเอาถูกเอาผิดกับมัน ไม่ไปจริงจังกับมัน ไม่เอาสาระแก่นสารอะไรกับมัน ...นี่เขาเรียกว่ารู้โดยสติปัฏฐาน

ก็คือการละวางขันธ์ห้าเบื้องต้น เพื่อให้จิตนี่มันไม่ทำงานในการปรุงแต่งขันธ์ ...เมื่อจิตไม่ทำงานในการปรุงแต่งขันธ์ มันก็หยุด มันก็อยู่ มันก็เป็นหนึ่ง

แต่บอกแล้ว ถ้ามันหยุดอยู่ลอยๆ นี่ มันหยุดอยู่ไม่ได้นานหรอก ...มันต้องหยุดอยู่กับความเป็นจริง นี่ท่านถึงบอกว่าต้องผูกพันกับศีล แนบแน่นกับศีล ต้องหยุดอยู่แล้วก็แน่วอยู่กับกายปกติปัจจุบันกายนี่

มันจึงเป็นหนทางแห่งปัญญา เกิดขึ้นมา คือรู้เห็นตามความเป็นจริงกับสิ่งที่มีอยู่จริง ว่าความเป็นจริงนั้นน่ะคืออะไรกันแน่ ...ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ ที่นี้ๆ ให้แจ้ง

ก็ต้องทำ “ที่นี้” ที่กายมันกำลังแสดง ที่ความจริงของกายมันกำลังแสดง ความเป็นจริงของกายกำลังปรากฏอยู่นี่ ที่นี้คือที่ทำให้แจ้ง

แจ้งอะไร ...แจ้งว่ามันเป็นอะไรกันแน่ มันเป็นเราหรือเปล่า มันเป็นของเราหรือเปล่า มันมีชีวิตจิตใจหรือเปล่า หรือมันไม่เป็นอะไรเลย ความเป็นจริงของมันแท้ๆ คืออะไรกันแน่ ...นั่นน่ะคือปัญญา 

ถ้าไม่เห็นกายตามความเป็นจริง ก็ไม่เรียกว่าเกิดปัญญา ...เพราะหลักใหญ่ใจความของพวกเรานี่คือความเป็นคน ...ที่มีความเป็นคนได้ ที่รู้จักกันว่าเป็นคนนี่...เพราะมีกาย 

แต่เรากลับไม่ใส่ใจความเป็นคนโดย physical คือกายภาพเลย  ทั้งที่...ถ้าไม่มีกายนี่จะไม่นับว่าเป็นคนได้นะ ...แล้วมันจะไปเรียนรู้ที่อื่นได้อย่างไร 

เพราะกายนี่เป็นเครื่องบอกถึงความเป็นคนน่ะ  แล้วเราก็เป็นคนน่ะ...ปัจจุบันชาติน่ะเป็นคน ปัจจุบันภพปัจจุบันชาติน่ะมันเป็นคนโดยพื้นฐานอยู่แล้ว

เพราะนั้นพระพุทธเจ้าก็ยังบอกว่าอีกว่า ศีลนี่คือเครื่องหมายของความเป็นคน เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นคน ...ถ้าออกนอกศีลก็หมายความว่าไม่ใช่คน

หมายความว่ามันลืมความเป็นคนในปัจจุบันไป ...นั่งไม่เป็นนั่ง ยืนไม่เป็นยืน เดินไม่เป็นเดิน...ขณะนั้นน่ะ มันไม่ได้รู้สึกอยู่กับตัวกายที่เป็นคนนี่เลย

มันไปอยู่ในจิต ไปอยู่ในขันธ์ห้า ไปอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  มันไปอยู่ในนั้น มันไปอยู่ในขันธ์ มันไม่ได้อยู่กับความเป็นคนจริงๆ

เพราะนั้นในความเป็นขันธ์น่ะไม่ใช่คน มันเป็นแค่อุปาทานรูปนามเท่านั้น ...แต่ด้วยความที่ไม่เข้าใจไง มันก็เกิดความหมายมั่นในอุปาทานรูปนามนั้นน่ะ เป็นเราเป็นคน เป็นเราเป็นคนอยู่ในนั้น

นี่ ผิด...ผิดที่ว่าไปเห็นขันธ์ห้านี่จริงกว่าศีลสมาธิปัญญา ...มันกลับไปเห็นขันธ์ห้า เราในอดีต เราในอนาคต...จริงกว่าศีลสมาธิปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นคนในปัจจุบันจริงๆ

เพราะนั้นถ้าไม่มีสติปัฏฐาน มันก็ไม่มีการระงับยับยั้งความปรุงแต่งในขันธ์ มันก็ยิ่งเลอะเลือน ...ถ้ายังปนเปื้อนในขันธ์ ระหว่างกายกับขันธ์นี่ มันก็เกิดความเลอะเลือน พร่ามัว ไม่ชัดเจน

ไหนจริงไหนเท็จ ไหนจริงไหนไม่จริง ไหนเป็นสิ่งที่กิเลสสร้างขึ้นมา ไหนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา แยกไม่ออก ...แล้วโดยความรู้สึกลึกๆ มันเชื่อในขันธ์ห้ามากกว่าเชื่อในกายว่ามีอยู่จริง

มันแยกธาตุแยกธรรมไม่ออก มันแยกขันธ์จากธาตุธรรมไม่ออก มันแยกกิเลสจากกายใจไม่ออก มันกลมกลืนสมานกันอยู่อย่างนั้น เป็นเนื้อเดียวกัน...เป็นเราอยู่อย่างนั้น

กายคือกาย ไม่ใช่รูป ...รูปก็ไม่ใช่กาย ...ถ้ารูปน่ะเป็นขันธ์ ถ้ากายน่ะเป็นธาตุ ไม่ใช่ตัวเดียวกัน ...เพราะกายมันไม่มีรูป กายจริงๆ ไม่มีรูป

เราจะมาวาดความรู้สึกแข็ง เราจะมาวาดความรู้สึกตึง ไหว นี่ วาดไม่ได้ มันไม่มีรูปให้วาด ...แต่อวิชชามันจำลองความรู้สึก ความเป็นความมีของกายนี่ขึ้นมา

ก็จำลองเป็นลักษณะเป็นรูปขันธ์ขึ้นมา มีทรวดทรง มีสีสันวรรณะ มีสูงต่ำดำขาว นี่มันเป็นรูปที่จิตนี่มันจำลอง อุปโลกน์ขึ้นมา จากที่กายจริงๆ ไม่มีรูป

มันจึงเกิดอาการหลงรูปหลงนามว่ามีจริง เนี่ยเรียกว่าหลงขันธ์ห้า วนเวียนอยู่ในขันธ์ห้า

ตราบเมื่อเข้าใจหลักของศีลสมาธิปัญญา แล้วก็พยายามเรียนรู้ หยั่งดูลงที่กายปัจจุบันบ่อยๆ ซ้ำๆ ...มันจึงจะเห็นความแตกต่างกันระหว่างขันธ์กับกาย

ถ้าแยกกายกับขันธ์จากกันไม่ได้ ...มันจะภาวนาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ  เลอะเทอะ เลอะเทอะจนเรียกว่าหาจุดหมายปลายทางไม่ได้ จับต้นชนปลายไม่ถูก

แต่ถ้าฝึกไปจนมันคัดกรองได้ว่า กายส่วนกาย ขันธ์ส่วนขันธ์ ...ก็ต้องเลือกอยู่กับกาย ไม่อยู่กับขันธ์ ...ถึงแม้ลึกๆ มันจะอยากเข้าไปมีเข้าไปเป็นในขันธ์

เพราะความคุ้นเคย เพราะความติดข้อง เพราะความหาสุขหาทุกข์ได้ในขันธ์ ...เพราะในขันธ์น่ะจะมีสุขทุกข์ของเราอยู่ แล้วมันคุ้นเคย มันติดข้องในสุขทุกข์ที่ได้มามีเป็นโดยขันธ์

แต่ถ้าโดยกายกับใจล้วนๆ นี่ มันจะหาสุขและทุกข์ในเราไม่ได้  มันจะมีแต่ความเป็นธาตุธรรมที่เป็นกลาง ...เพราะนั้นจิตที่มันอยู่กับธาตุธรรมที่เป็นกลางนี่ มันจะไม่เป็นทั้งสุขและทุกข์

มันจะมีแต่ความมั่นคง ปราศจากอารมณ์ มีแต่ความเป็นปัสสัทธิ เยือกเย็น สงบ ระงับ ดับวาง เป็นเอกเทศ เป็นอิสระ ...พวกนี้ไม่เรียกว่าสุข-ทุกข์นะ

แต่เมื่อใดเวลาใดที่มันยังไม่เป็นอิสระ เข้าถึงกายล้วนๆ ไม่ถึง ยังไม่ถึงใจล้วนๆ ...ระหว่างนั้นน่ะ กิเลสภายในมันยังทำงาน มันพยายามผลักดันให้เข้าไปหาสุขทุกข์ในขันธ์อยู่ตลอดเวลา...โดยอนุสัย มันเป็นอนุสัย

ถ้าไม่เข้มแข็ง ถ้าไม่แข็งแรงในศีลสมาธิปัญญา เหยียบหยั่งไว้อยู่ ...มันก็จะกระโจนเข้าไปหา เข้าไปมี เข้าไปสร้างสุขในขันธ์ ตามฐานต่างๆ น่ะ เวทนากายจิตธรรม

จะไปยังไงก็ได้ ...อยากมีความสุขคิดถึงคนนั้นคนนี้ อยากมีอารมณ์อะไร ใช้การปรุงแต่งเข้าไป ในแง่มุมไหนก็ได้  เดี๋ยวก็ได้สุขขึ้นมาในความคิดในอารมณ์

แล้วก็ไปหลงระเริงมัวเมาในความเพลิดเพลินในขันธ์นั่นน่ะ โดยหารู้ไม่ว่า ทั้งหมดนี่มันไม่มีจริงเลย มันเป็นการอุปโลกน์ขึ้นมาลอยๆ ...สุขทุกข์ในขันธ์ห้านี่ จริงๆ มันอุปโลกน์ขึ้นมาลอยๆ

เพราะนั้นถ้าไม่แน่วแน่ในศีลสมาธิปัญญา ไม่แน่วแน่ในปัจจุบัน แน่วแน่ในความเป็นจริงที่มีอยู่จริงในปัจจุบันนี่ ...ไม่มีทางหรอกที่จะเท่าทันความมีความเป็นในขันธ์

ถึงไม่คิดนึกเป็นภาษาเป็นคำพูดอะไรก็ตาม มันก็ยังล่องลอย...จิตก็ยังล่องลอยไปมา ไม่รู้อยู่ที่ไหน ด้วยโมหะ ไม่มีฐานไม่มีทุ่นอะไรเลย ที่ยึดหยั่งเหยียบอยู่กับความเป็นจริง เป็นทุ่นเลย

นั่นน่ะตัวกิเลสความปรุงแต่งน่ะ คือตัวพาออกนอก ...นอกอะไร นอกความเป็นจริง ความเป็นจริงคืออะไร คือกายปัจจุบัน คือศีลนั่นเอง

ผู้ปฏิบัติไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศีลเลยน่ะ ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องศีลด้วย กลับไปสำคัญมั่นหมายในศีลวิรัติศีลบัญญัติอย่างเอาจริงเอาจังอยู่อย่างงั้น ...ไอ้อย่างงั้นน่ะคือตัวสีลัพพตปรามาสแท้ๆ เลยนะ


(ต่อแทร็ก 17/34)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น