วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 17/36 (2)


พระอาจารย์
17/36 (580110E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10 มกราคม 2558
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 17/36  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าความรู้ความเห็นใดที่สืบค้นต้นตอ สาวมาถึงต้นตอว่ามาจากศีลสมาธิปัญญา ...อันนั้นน่ะ รู้จริง รู้แจ้ง รู้ชัด รู้ตามความเป็นจริง ...ไม่ผิด 

มันสามารถตรวจสอบตัวเองได้ก่อนนะ ...ถ้าตรวจสอบนี่...เออ อย่างที่หลวงตาบัวท่านเคยเขียนไว้เรื่องอรหันต์นกหวีดน่ะ เคยอ่านไหมเรื่องอรหันต์นกหวีดนี่

ที่มีพระไปธุดงค์ด้วยกันสามสี่องค์ ตกกลางคืนองค์หนึ่งเป่านกหวีดปรี๊ด เพื่อนวิ่งไปดู ท่านก็บอกผมสำเร็จแล้ว ...เอ้า อีกสามสี่คืนต่อมา เป่าอีกปรี๊ด...ผมไม่ได้สำเร็จ ผมถูกหลอก ...นั่น อรหันต์นกหวีด

นั่นยังดีนะ ท่านยังทบทวนตัวเองได้ว่าถูกหลอกหรือไม่ถูกหลอก ...แต่ก็ยังเสียท่ากิเลส คือไปเชื่อมัน แล้วก็ไปแสดงโชว์โง่น่ะ อวด อวดธรรม  เห็นมั้ย มันพาอวดธรรมที่เราได้

เพราะนั้นต้องคอยตรวจสอบเสมอ...ว่าธรรมที่ได้ ธรรมที่รู้น่ะ จริงหรือเท็จ มาจากศีลสมาธิปัญญามั้ย หรือมาจากจิตปรุงแต่งล้วนๆ 

เพราะนั้นความรู้จริง รู้แจ้ง รู้ชัด รู้ชอบ รู้ตรงนี่...จะต้องรู้ด้วย ญาณทัสสนะ ...คำว่าญาณทัสสนะ มาจากว่า หยั่งรู้ หยั่งเห็น  ญาณ..หยั่งรู้ ทัสสนะ..หยั่งเห็น

ตัวหยั่งรู้หยั่งเห็นด้วยญาณนี่ จะต้องมีฐานมาจากศีล-สมาธิ มันจึงจะเป็นญาณทัสสนะ ...จิตจะต้องระงับสังขาร จิตจะต้องระงับขันธ์ จิตจะต้องระงับความเห็น ระงับอดีตอนาคต ระงับอารมณ์ 

จิตดวงนี้จึงเรียกว่าเป็นจิตสมาธิ ...แล้วมันจะต้องเป็นจิตที่อยู่กับกาย จึงจะเกิดการหยั่งรู้หยั่งเห็น ...ไม่ใช่อยู่ลอยๆ นะ

อย่างสมมุติว่าเข้าถึงผู้รู้ เอ้า ด้วยวิธีการสติปัฏฐานใดฐานหนึ่งก็ได้ แล้วมันคงไว้แต่ผู้รู้ สภาวะรู้ลอยๆ นี่ มันจะหยั่งรู้หยั่งเห็นกับอะไร...ไม่มี ไม่มีที่ให้มันหยั่งรู้หยั่งเห็นเลย

แต่ถ้าเป็นสมาธิที่มาจากศีล คือมาจากกาย มันจะอ้างอิงกายเป็นฐาน ...ถึงแม้ตัวมันจะเป็นหนึ่ง ไม่คิดไม่ปรุงแต่ง แต่มันจะเหมือนยึดโยงอยู่กับกายอยู่

เพราะนั้นเมื่อมันยึดโยงอยู่กับกาย เวลาเป็นดวงจิตสมาธิแล้ว ปัญญามันพร้อมที่จะเกิดแล้ว อาการรู้และเห็น หยั่งรู้หยั่งเห็น มันจะหยั่งลงที่กาย...แต่เป็นกายอย่างที่เราบอกตอนแรก เป็นกายเปล่าๆ เปลือยๆ

นั่นแหละ ความรู้เห็นอย่างนี้ จึงเรียกว่าญาณ..ปัญญาญาณ ...ไม่ได้รู้เห็นโดยกิเลส ไม่ได้รู้เห็นโดยคิดนึกเอาเอง แต่มันรู้เห็นผ่านศีลสมาธิ ความรู้เห็นอย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นความรู้เห็นอันชอบอันควร หรือสัมมาทิฏฐิ

เป็นความรู้ชอบ เป็นความรู้ที่ตรงต่อธรรม เป็นความรู้ที่ไม่เกิดจากการบิดเบือนธรรมโดยกิเลส เป็นความรู้ที่แจ้งชัดและตรงต่อธรรมที่อยู่เบื้องหน้าใจ ...จึงเรียกว่าเป็นความรู้เห็นผ่านญาณทัสสนะ

เมื่อมันผ่านญาณทัสสนะแห่งการรู้เห็นขันธ์ด้วยปัญญาอย่างนี้ต่อเนื่อง ...ผลของญาณทัสสนะ จะทำให้เป็นญาณวิมุติทัสสนะ คือเห็นด้วยความหลุดพ้นจากความติดและข้อง 

คือมันเห็นจนเข้าใจ เห็นจนยอมรับน่ะ จึงเป็นวิมุติทัสสนะ หลุดจากความเห็นผิดในกาย ว่าเป็นเรา ว่าเป็นสัตว์ ว่าเป็นบุคคลนี่แหละ

แต่ผู้ภาวนานั้นจะต้องเป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยในความเพียรเลย ...ความเพียรคืออะไร ...คือทำอะไรเหมือนเดิมซ้ำซากไม่เปลี่ยน ...นี่ มันน่าเบื่อนะ

กายก็กายอันเก่า นั่งก็นั่งแบบเก่า ความรู้สึกก็ความรู้สึกแบบเก่า แล้วก็ไม่ได้อะไรด้วยนะระหว่างทำระหว่างดูน่ะ ...อันนี้คือความเพียร ไม่ท้อถอย 

ระหว่างที่ทำนี่ มันก็มีหน้ากากอีกตัวหนึ่ง มันก็ตั้งหน้าตั้งตารอว่า...เมื่อไหร่กูจะได้วะ เมื่อไหร่กูจะสำเร็จ ...มันอยู่ข้างในน่ะ แล้วก็คอยจะสร้างอารมณ์ เบื่อ เหงา เซ็ง อิดหนาระอาใจ ท้อแท้ ไม่ไหว

มันก็บ่นเป็นหมีกินผึ้งอะไรอย่างนี้ นี่ มันจะต้องมีอยู่ข้างในที่มันคอยเดือดเนื้อร้อนใจ จะออกมาวาดลวดลาย...เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นการใดการหนึ่งขึ้นมาให้ได้น่ะ

แต่กายกับใจ กายกับสติ กายกับรู้ ก็ยังทื่อๆ ของเขาอยู่อย่างนั้น  ดูหน้าตามันก็ไม่น่าจะไปถึงนิพพานได้ในเร็ววัน ...เนี่ย มันจะเห็นอยู่อย่างนั้นตลอดน่ะ 

ก็สักพักนึงก็..."ไม่เอาแระ ไม่ไหว พอแล้ว" ...ดูเวลามาจนคอเคล็ดแล้วระหว่างเดินจงกรม เมื่อไหร่จะถึงเวลาที่กูตั้งไว้  พอถึงปุ๊บ เหมือนกับได้ของขวัญปีใหม่เลย ได้นอนซะที

นั่น มันได้ความสุขแห่งเราแบบง่ายดาย รวดเร็ว ฉับพลัน  นี่คือความสุขในขันธ์นี่เร็วนะ แค่นึกแล้วทำปั๊บ ได้เลย …แต่ภาวนาอะไรวะนี่ ดูไปกูยังไม่ได้เฉียดใกล้นิพพาน ไม่ได้รู้เลยนิพพานอยู่ไหน

ตรงนี้ที่เรียกว่าความเพียร ต้องอาศัยความเพียร ไม่ท้อถอย ...รู้ไปดูไป ไม่ได้อะไรก็ไม่ได้อะไร  อย่าให้จิตออก อย่าให้จิตลืม อย่าให้จิตห่าง อย่าให้จิตหายจากนี้...จากกาย จากความรู้สึกในกาย

เพราะนั้น มันจะดูให้เป็นรูปก็ได้ ดูให้เป็นความรู้สึกก็ได้ เอาอะไรก็ได้ให้ได้ไว้ก่อน ขอให้เป็นกรอบของกายนี้ ...เมื่ออยู่ในรูปกายได้ชัดแล้ว ทรวดทรงของอิริยาบถได้ชัดแล้ว

ก็มาทำความรู้สึกให้ชัดอยู่ในรูปทรงนั้น ว่ารูปทรงแห่งการนั่งมันรู้สึกยังไง รูปทรงแห่งการยืน  รูปทรงแห่งการเดินมันรู้สึกยังไงชัด ก็ให้มันรู้สึกในความรู้สึกที่เป็นใหญ่ในอิริยาบถนั้นๆ

หมายความว่ามันไม่แตกออกนอกรูปกายนั้นนะ ...แต่ถ้ายังขยับขยายไปมาระหว่างความคิดกับกายคนอื่น กายคนนั้นคนนี้ ก็พยายามน้อมลงที่กายตัวเอง รูปกายตัวเอง

กำลังทำท่าอะไรก็ให้เห็นตัวเองกำลังอยู่ในท่าไหน ...เอาล่อเอาเถิดกับกาย เอาล่อเอาเถิดกับจิตที่มันจะออกนอกกายนี่ ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่เห็นแก่เวล่ำเวลา ไม่เห็นแก่กิจธุระภายนอก

เดี๋ยวมันก็ก่อร่างสร้างศีล ก่อร่างสร้างสมาธิขึ้นมาได้เป็นทีละเล็กทีละน้อยเอง ...จนถึงจุดที่เรียกว่า เสื่อมแล้วได้อีก หายแล้วทำอีก ทำแล้วทำอีก บ่อยๆ

คราวนี้ จิตไปมานี่..จะว่านอนสอนง่าย ไม่ยาก ไม่ดื้อ ไม่ดึงดัน ไม่ดันทุรัง ...เหมือนแค่แตะเบาๆ รู้เห็นเบาๆ ว่ามันไปแล้ว มันก็กระวีกระวาดกลับที่กลับฐานเลย 

นี่ ว่าง่ายสอนง่ายแล้ว ...เรียกว่าผู้นั้นน่ะ ความเพียรแล้วก็การคร่ำเคร่งในศีลสมาธิปัญญานี่ มันมีแรงมันมีกำลังกว่าอำนาจของกิเลส พอเห็นได้

แต่ยังไม่พอแค่นี้ จะต้องเอาจนกว่ากิเลสนี่อยู่หมัด ...หมายความว่า ความปรุงแต่งในจิตนี่อยู่หมัดเลย ไม่ได้ไป ไม่ได้มาเลยแหละ ...นี่คือความแข็งแกร่งของศีลสมาธิปัญญา

แต่ยังอยู่ในท่าทางท่าทีแห่งการควบคุมไว้ ...แล้วอาศัยช่วงเวลาที่ควบคุมไว้นี่แหละ มันจะเกิด...บังเกิดการเรียนรู้อย่างชัดเจนชัดแจ้งในกองกาย อยู่แทบจะตลอดเวลาเลย 

เวลามันถึงจุดที่มันอยู่กันจริงๆ นี่ มันไม่ได้หลับไม่ได้นอนหรอก ไม่ง่วงเหงาหาวนอนเลย ...ต้องบังคับให้นอน ตื่นมาปุ๊บมันทำงานใหม่ ทำงานต่อเลย 

ทำงานคืออะไร ...คืองานสืบค้นความเป็นไปในกาย ไม่ได้สืบค้นโดยคิดนะ สืบค้นโดยญาณ ...จนถึงสภาวะ...สภาพที่เรียกว่ากายนี่แตกแหลกสลายเลย

คำว่าสลาย...ยังไง ...คือไม่สามารถรวมรูปได้ ไม่สามารถตั้งกรอบรูปขึ้นมาหุ้มกายได้ ...กายนี่จะกระจัดกระจายหมด ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีสีสัน ไม่มีวรรณะ ไม่มีประมาณ ไม่รู้อยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ของมัน 

นี่ มันอยู่ของมันตรงไหนก็ไม่รู้ กายมันแตกละเอียดหมด ...ถึงตรงนั้นแบบนั้น ที่มันเห็นอย่างนั้น...ด้วยญาณที่พาให้ไปเห็นกายอย่างนั้นนะ  จ้างมาร้อยล้านพันล้านก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นเรา บอกให้เลย

บีบบังคับยังไงให้เป็นเราๆ ให้เป็นสวยเป็นงาม...ไม่มีอ่ะ มันเป็นไปไม่ได้เลย มันเห็นซะจนขนาดนั้นแล้วในความเป็นกายน่ะ กิเลสจะมาหน้าด้านบอกว่าเป็นเราได้ยังไง แบบไหนล่ะ...ไม่มีอ่ะ เป็นไปไม่ได้เลย

นั่น การรู้เห็นนั้นถึงเรียกว่าเป็นโดยปัจจัตตัง ไม่ต้องให้ใครยืนยันเลย ...มันเห็นอย่างนั้น มันยืนยันได้ด้วยตัวมันเองเลยว่าไม่ใช่เราจริงๆ มันยืนยันโดยเป็นปัจจัตตัง


(ต่อแทร็ก 17/37)




1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ5 เมษายน 2562 เวลา 03:00

    สวัสดีครับ พอดี HDD ผมเสียไฟล์แผ่นที่ 7-10 หายไปหมดเลยครับ

    ถ้าเป็นไปได้อยากจะรบกวนขอไฟล์แผ่นที่ 7-10 และแผ่นที่ 17 ด้วยครับ เพราะผมมีถึงแผ่นที่ 16 เองครับ
    หลวงพี่ ก็ไปบวชแล้ว ผมจึงไม่รู้จะติดต่อขอแผ่นที่ใครเลยครับ

    ขอบคุณมากครับ
    ติดต่อมาได้ที่ namleep@gmail.com

    ตอบลบ