วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 17/32 (2)


พระอาจารย์
17/32 (580110A)
10 มกราคม 2558
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 17/32  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  คือจิตปรุงแต่งนี่ เป็นอะไรที่กิเลสมันสร้างขึ้นมาใหม่ อวิชชามันสร้างขึ้นมาใหม่  ...แล้วมันสร้างขึ้นมาใหม่แบบไม่มีข้อจำกัดด้วย เรียกว่าไม่มีประมาณ จิตไม่มีประมาณ

แต่ความเป็นจริงของกายนี่ เป็นความเป็นจริงที่มีอยู่ แล้วก็มีอยู่ในขอบเขตแห่งความเป็นจริงตามเหตุปัจจัย ไม่ได้ขึ้นลงตามกิเลส ไม่ได้ขึ้นลงตามอวิชชา มันขึ้นลงตามเหตุปัจจัยสภาพแวดล้อม

แต่ไอ้ความไม่รู้นี่ มันมาหมายเอากายนี้ว่าเป็นตัวเรา ของเรา ...เมื่อมาหมายกายเป็นตัวเราของเรา นั่นน่ะคือจุดเริ่มต้นของการปรุงแต่งในขันธ์ห้า เพื่อให้เป็นไปถึงเราในอดีต เราในอนาคต

ที่มีไอ้เราปัจจุบันนี่ ไอ้เราในกายปัจจุบันนี่ เพื่อมันจะสืบเนื่องไปถึงเราอดีตเราอนาคต ...เพราะนั้นการสืบเนื่องไปในอดีตอนาคตนี่ มันไปโดยขันธ์ อาศัยขันธ์น่ะเป็นเครื่องนำพาไป

จิตมันไม่ได้ไปของมันเปล่าๆ นะ ...มันก็ไปพร้อมกับสร้างขันธ์ขึ้นมา สร้างรูปนาม สร้างรูปสร้างนาม สร้างสมมุติสร้างบัญญัติ สร้างความหมายสร้างความเห็นอะไรขึ้นมา ...นั่นน่ะคือการสร้างขันธ์ห้า

เพราะนั้นการสร้างขันธ์ห้ามันจะไปในช่องทางต่างๆ สี่ช่องทางที่เรียกว่าตามฐานทั้งสี่นี่ ...คือไปในแง่มุม บุคคล วัตถุ เป็นรูปลักษณ์ นี่ ก็เรียกว่าลักษณะของกายานุสติปัฏฐาน

ถ้าเป็นความรู้สึกสุขทุกข์ สบายใจไม่สบายใจ พอใจไม่พอใจ ยินดียินร้ายนี่ก็เรียกว่าเป็นเวทนานุสติปัฏฐาน  นี่คือการปรุงแต่งในขันธ์ห้า แต่ว่าเวทนาเป็นใหญ่ในขันธ์ห้า 

คือมีความรู้สึกว่า มีแต่ความรู้สึก อาจจะไม่มีสัญญาสังขารอย่างเด่นชัดหรอก หรือไม่มีภาษาบัญญัติ แต่มันจะเป็นใหญ่ในความรู้สึกว่ากำลังทุกข์อย่างนี้ 

นี่คือความปรุงแต่งของขันธ์ แต่ว่าตัวใหญ่ของมันคือความรู้สึก ท่านก็เรียกว่าเป็นเวทนานุสติปัฏฐาน

หรือถ้าคิดเรื่อยเปื่อยสะเปะสะปะไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว ก็เรียกว่าจิตตานุสติปัฏฐาน นี่ก็คือการปรุงแต่งในขันธ์ห้าในลักษณะมั่วๆ ซั่วๆ เป็นสภาวะจิตอย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น

หรือไม่ก็เป็นกุศล อกุศล  อารมณ์นี่ เศร้าหมอง ผ่องใสนี่ หรือว่างนี่ อะไรก็ตาม อารมณ์กุศล อกุศล บาปบุญนั่นแหละ ก็เป็นธรรมารมณ์ ก็เป็นธัมมานุสติปัฏฐาน

เนี่ย คือการปรุงแต่งของขันธ์ห้า ของจิต ...มันปรุงออกมาเป็นรูปลักษณ์แตกต่างกันใน ๔ แง่มุม

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า การเจริญสติปัฏฐาน...ให้รู้ ...จิตเป็นยังไง..รู้ มีราคะรู้ว่ามีราคะ มีโทสะรู้ว่ามีโทสะ ...ท่านให้รู้ ท่านไม่ได้ให้ไปเพ่งจ้องอะไรกับมัน ไม่ได้บอกว่าให้ไปหาความจริงในนั้น

ท่านไม่ได้บอกว่าให้ไปละ ทำลาย หรือทำอะไรกับมัน บอกว่าให้รู้ๆ ...รู้แล้วก็ไม่เป็นไปกับมัน รู้แล้วก็ไม่ตามมัน รู้แล้วก็ไม่ไปยุ่งกับมันนั่นแหละ ก็เรียกว่ารู้แล้วละ รู้เฉยๆ

แต่ที่ท่านบอกต้องเพียรเพ่งลงไปนี่...ในศีล นี่ต้องถือ...ศีลนี่ต้องถือ ต้องรักษา ...อันนี้ท่านบอกให้รักษาศีล เข้าใจคำว่ารักษาไหม ท่านไม่เคยบอกให้สติปัฏฐานน่ะไปรักษา

ไม่ไปตามรักษาความมีความเป็นของขันธ์ในแง่มุม กายเวทนาจิตธรรม นั่น ท่านไม่ได้บอกให้รักษา ...แต่ท่านบอกให้มารักษาศีล ศีลนี่ต้องรักษา ก็คือต้องมารักษาความรู้อยู่กับกายอยู่กับตัว เรียกว่ารักษาศีล

พอรู้ มันไม่ไปอยู่กับขันธ์หรือว่าความเป็นไปในขันธ์ แต่มันมารู้อยู่กับความเป็นไปในกาย ...เนี่ย เพราะว่าศีลมันบังคับน่ะ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าต้องรักษาน่ะ ต้องรู้ รู้แล้วต้องรักษานี่

มันก็ค่อยๆ เรียนรู้ดูเห็น พฤติกรรมอาการของกาย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของธาตุปรากฏอยู่ทุกปัจจุบันไปนี่ ท่านให้รู้รักษา นี่ มันก็เกิดการติดตามสังเกต เรียนรู้ แยบคาย ลึกซึ้ง ทำความเข้าใจกับมันด้วยมนสิการ

มันจึงค่อยๆ สืบค้นลงไปในความเป็นไป ในความเป็นจริงของกาย ว่ามันเป็นเพียงแค่ก้อนธาตุก้อนธรรม หาความเป็นเรา หาความเป็นสัตว์บุคคลไม่ได้เลย

ตรงนี้ต่างหากปัญญามันเกิด ปัญญาไม่ได้เกิดตอนอยู่ในสติปัฏฐานหรอก ...ไอ้ตัวสติปัฏฐานน่ะเป็นตัวกันไม่ให้จิตมันล้ำออกไปในขันธ์ห้า แล้วก็ไปหลงวนอยู่ในขันธ์ห้า นั่นน่ะที่เรียกว่าจิตมันออกนอก

แต่ที่พวกเราทำสติปัฏฐานกันนี่ เราทำแล้วก็เรามาคาอยู่แค่รู้น่ะ จะเอาแค่รู้น่ะ แล้วก็อยู่กับรู้อย่างนั้นน่ะ ไม่เอาอะไรเลยๆ มันจะเกิดปัญญาตรงไหนล่ะ

แล้วก็จะไปรอให้ปัญญามันเกิดเองเหรอ ส่วนมากพออยู่กับรู้ได้ ตั้งใจทำสติปัฏฐานจนได้ผู้รู้ อยู่กับรู้ไปอย่างนั้นน่ะ มันจะเกิดปัญญากับอะไร จะให้ปัญญามันเกิดขึ้นมาเองยังไง...ไม่เกิดหรอก

ทีนี้เมื่อมันเพียรเพ่งจ้องอยู่ในกองกายไว้ อยู่ตลอดเวลา  มันก็ค่อยๆ เข้าใจ ...มันเข้าใจของมันเองน่ะ ว่ามันไม่ใช่เรา มันเป็นก้อนอะไร เป็นแผ่ๆ แผ่นๆ เป็นกลุ่มๆ

มันเห็นลักษณะความรู้สึกในกาย เป็นอย่างนั้นน่ะ  เป็นหย่อมๆ เป็นกลุ่มๆ เป็นจุดๆ เป็นอะไรตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้าง ...มันหาความเป็นเราได้ยังไงล่ะหือ มันเห็นคาตาคาใจอยู่อย่างนั้นน่ะ

ตรงนี้มันก็เกิดความถอดถอนความเห็นผิดโดยตัวมันเอง ...มันจะหา จะดูยังไงๆ มันก็หาเราไม่เจอ ...ดูลงไป เพ่งลงไปสิ ในความรู้สึกที่แข็งที่ตึงน่ะ เพ่งจ้องลงไปสิ

มันหาความเป็นเราในแข็งตึงนั่น มีไหมเล่า  มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ กาย ความรู้สึกของกายน่ะ มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ ...ไม่รู้เพราะมันเป็นอะไรที่ไม่มีความหมายเลยน่ะ เป็นอะไรแค่เกิดๆ ดับๆ น่ะ

เพราะนั้นถ้ารักษาศีลโดยไม่คลาดเคลื่อนเลยนี่ มันเห็นอยู่ตลอดเวลาในความปรากฏขึ้นแห่งความรู้สึกในกายอยู่อย่างนี้ ความเห็นว่าเป็นเรามันอยู่ไม่ได้หรอก ...มันก็ค่อยๆ ลบล้างความเห็นผิดว่ากายนี้ยังเป็นเราอยู่ 

มันจะมีติดกายยังไง มันจะเป็นสมถะยังไง ....มันเป็นศีลสมาธิปัญญาเลยน่ะ ที่อยู่ด้วยกันอย่างพรักพร้อมเลย  มันครบองค์น่ะ ศีลสมาธิปัญญามันครบองค์อยู่ เห็นไหมล่ะ 

ถามดูเอา อยู่กับผู้รู้ลอยๆ นี่ มันมีศีลสมาธิปัญญาอยู่ตรงไหน หือ หรือเอาถามว่าดูจิตๆๆ นี่ ศีลสมาธิปัญญาอยู่ตรงไหน ...มันต้องตอบให้ได้สิ ใช่มั้ย 

ส่วนมากก็บอกว่า วันนี้ครบแล้วศีลไม่ได้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเลย อย่างเงี้ย จะอ้างกันลอยๆ ในศีลลอยๆ อย่างนี้ มันเป็นศีลอะไรลอยๆ ที่จับต้องไม่ได้ ไม่ใช่ศีลนะ

เพราะนั้นไอ้ผู้ที่ถือศีลอย่างนั้นน่ะ ท่านเรียกว่าสีลัพพตปรามาส คือยังคิดว่าเชื่อว่ามีศีลอยู่ แต่ความเป็นจริงยังเข้าไม่ถึงศีลเลย มันเป็นแค่คำกล่าวอ้างลอยๆ ความรู้สึกลอยๆ ว่ามีศีลอยู่

แล้วมันจะได้โสดา สกิทาคา อนาคา ได้อย่างไร มันละอะไรได้บ้าง มันถอดถอนอะไรได้บ้าง มันรู้ไหมล่ะ ...มีแต่ว่ามันไม่เอาอะไรเลย ปัดทิ้งๆๆ ทันแล้วก็ทิ้ง 

แล้วก็อยู่พยายามจับรู้อยู่อย่างนี้...ไม่ได้อ่ะ ไม่ได้ปัญญา ...แต่คนนี่มักจะไปเข้าใจว่านี่คือปัญญาวิมุติ คือไม่ต้องเอาอะไรเลย ไม่พิจารณาอะไรเลย 

แล้วก็อยู่ไปอย่างนี้ รักษาความบริสุทธิ์ใจไปอย่างนี้ อยู่กับผู้รู้ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ แล้วเดี๋ยวกิเลสก็หลุดร่อนไปเอง ...มันจะหลุดร่อนไปเองยังไง มันก็ถือครองผู้รู้...เรารู้ ไว้อย่างนี้

เพราะนั้นตลอดการเดินในมรรคนี่ จะทิ้งศีลไม่ได้เลยน่ะ จะทิ้งกายไม่ได้เลยน่ะ แล้วกายนี่มันจะเปลี่ยนไปตามสภาพไปเรื่อยๆ

จากกายที่มีรูปครอบก็เป็นกายที่ไม่มีรูปครอบ จากกายที่ไม่มีรูปครอบ ก็ไม่เรียกว่ากาย ไม่มีความหมายว่ากายแล้ว เพราะไม่มีตัวรูปมาแบ่ง ว่าในว่านอก

เมื่อมันทำลายรูป สลายรูปไปแล้วนี่ กายก็เป็นก้อนธรรมแล้ว ไม่ใช่ก้อนธาตุ ...เมื่อมันเป็นก้อนธรรม มันก็จะไปเป็นอันเดียวกับธรรมทั้งหมด เพราะมันไม่มีรูปมาแบ่งแยก

มันก็จะเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมทั้งหมด กับธรรมชาติทั้งหมด หรือว่าปัจจุบันทั้งหมด เพราะนั้นตัวกายจึงกลายเป็นตัวปัจจุบันธรรม ซึ่งปัจจุบันธรรมหมายถึงทุกสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ ในปัจจุบัน

ตรงนั้นน่ะท่านเรียกว่ามหาศีล ก็ยังอยู่ในองค์ศีลอยู่วันยังค่ำน่ะ จนมันรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมทั้งหลายทั้งปวง นี่ ปัญญา สมาธิ...มหาสมาธิ มหาปัญญา มันจึงเกิดความที่เรียกว่า สิ้นสงสัยในธรรม

คำว่าสิ้นสงสัยในธรรม คือไม่สงสัยว่า...ธรรมเนี้ย ธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏในปัจจุบันทั้งหมดนี่ เป็นของเราหรือเป็นของเขา เป็นของใครหรือไม่เป็นของใคร

มันจะสิ้นสงสัยเลยว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใคร นั่นแหละเรียกว่าสิ้นสงสัยในธรรม ...ปัญญาสูงสุดมันจะเห็นอย่างนั้น

เมื่อมันเห็นโดยรอบโดยตลอดแห่งธรรมทั้งหลายทั้งปวง ว่าไม่ใช่เรา ของเรา นั่นน่ะ มันจึงเกิดภาวะที่ว่าสิ้นสงสัยในธรรม

เมื่อมันสิ้นสงสัยว่ามันเป็นเราของเรามั้ย...ไม่เป็น ...แล้วมันเป็นอะไร ...เป็นอนัตตา เป็นทุกขา เป็นอนิจจา

อวิชชานี่ ที่มันเคยอยู่เคยเกาะกุมอยู่กับใจนี่ แล้วมันไปเกิดตายอยู่กับธรรมนี่ แล้วไปให้ค่าให้ความหมายกับธรรมว่ามีอย่างนี้เป็นอย่างนี้โดยบัญญัติโดยความเห็นโดยสมมุติบ้างนี่

เมื่อมันเห็นในสภาพธรรมว่าไม่เป็นอย่างนั้น อย่างที่อวิชชามันเห็นนี่...มันจะไปเกิดได้ยังไง มันจะไปตั้งอยู่กับธรรมไหนได้ มันจะไปตั้งเราตั้งเขาอยู่กับธรรมไหน มันจะไปตั้งสุขตั้งทุกข์กับธรรมไหน

มันก็ไปหาที่เกิดไม่ได้ ไม่มีที่ให้มันเกิด พอมันกระโดดออกไปจะไปจับตรงไหน ก็ว่างๆ สลายหมด จับตรงไหนก็ว่าง สลายหมด ตกหล่นๆๆ ตกหล่นอยู่อย่างนั้นน่ะ

มันเกิดไม่ได้ ไปตั้งขันธ์ขึ้นมาไม่ได้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันไปตั้งขันธ์ขึ้นไม่ได้เลย  มันร่วงหายๆ หมด เหมือนเข้าไปในความว่างเลย  หาภพไม่เจอ ไม่มีภพให้มันอยู่

นั่นแหละอวิชชามันก็หมดสิ้นไป เพราะมันหาที่เกิดที่ตายไม่ได้ ก็ครบถ้วนกระบวนความศีลสมาธิปัญญา...จนถึงที่สุดบริบูรณ์แห่งศีลสมาธิปัญญา

มันก็รู้แจ้ง รู้จบ รู้รอบ รู้ครอบสามโลกธาตุ ในธรรมที่ปรากฏอยู่ในโลกธาตุแต่ละโลกธาตุ มันแจ้งหมดน่ะ หาความเป็นสัตว์บุคคลไม่ได้ หาความเป็นเราเขาไม่ได้ ก็แจ้งหมดแล้วน่ะ

การเกิดมันก็ยุติอยู่ตรงนั้นน่ะ จิตก็ไม่ออกไปเกิดเป็นขันธ์มารองรับเรา รองรับเขาอีก


(ต่อแทร็ก 17/33)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น