วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 17/32 (1)



พระอาจารย์
17/32 (580110A)
10 มกราคม 2558
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  กราบเรียนถามพระอาจารย์ คือจิตของโยม มันตั้งยังไงน่ะครับพระอาจารย์  มันไปติดอะไรรึเปล่าครับ หรือว่ามันฟุ้งซ่าน มันออกไปในลักษณะยังไงครับ แล้วควรจะทำยังไงดี

พระอาจารย์ –  จะไปทำไง ก็บอกให้อยู่ในที่อันเดียว ...จิตมันจะต้องอยู่ในที่อันเดียว ถ้ามันไปหลายที่น่ะ มันก็ไม่เป็นสมาธิ ...ต้องกำหนดจุดใดจุดหนึ่ง ในกายนี่ ความรู้สึก แล้วก็ไม่ให้มันเคลื่อนจากจุดนั้น ไม่ใช่ไปมาๆ

เพราะนั้นการที่จะให้มันอยู่จุดเดียวนี่ มันก็ต้องตะล่อม ค่อยๆ ตะล่อมจิตให้มันอยู่ในแวดวงกาย เบื้องบนเบื้องล่าง ขึ้นไปลงมาอยู่อย่างนี้ก่อน ไล่ความรู้สึกในกายไปสักพักหนึ่ง

แล้วจุดไหนมันเด่น ความรู้สึกไหนมันเด่น ความรู้สึกในกาย ก็จับแนบแน่นกับความรู้สึก ไม่เคลื่อน ไม่ให้จิตมันเคลื่อนจากความรู้สึกนั้น ...เพ่งจ้องลงไป ต้องอาศัยการเพ่งจ้องลงไป

ถ้าไม่เพ่งจ้องนี่ จิตมันจะลอย ลอยไปลอยมา เคลื่อนไปเคลื่อนมาอยู่ ตามวิสัยมัน ...มันต้องอาศัยการเพ่งจ้องลงไปในจุดเดียว ความรู้สึกเดียว ด้วยความสุขุมนุ่มนวลลงไป

จิตมันก็จะแนบแน่นอยู่ในกาย เป็นสมาธิ ค่อยตั้งมั่นขึ้น จิตมันก็ไม่เคลื่อนไปเคลื่อนมา มันก็รวมอยู่กับความรู้สึกกายในที่เดียวตำแหน่งเดียว ...นี่เรียกว่าจิตมันอยู่ในที่เดียว อยู่ในที่อันเดียว


โยม –  แล้วตอนนี้เป็นยังไงน่ะครับ

พระอาจารย์ –  ก็ไม่เป็นไงอ่ะ ก็ยังลอยอยู่ ...ให้แนบลงไป ไอ้ความรู้สึกที่นั่ง ที่ก้น ตึงเนี่ย


โยม –  มันจะต้องเป็นรู้-เห็นอยู่ หรือว่า

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง ให้มันรวมกันไปเลยน่ะ อย่าไปแยก ...รวมลงไป จ้องลงไป เพ่งลงไป ลงไปที่กายน่ะ ตรงที่ก้น ตรงที่ความรู้สึกมันตึงน่ะ จับเพ่งไปที่ความรู้สึกนั้น


โยม –  ไม่ต้องมีลักษณะของผู้ดูหรือครับ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง ...เพ่งลงไป ให้มันรวมกัน กาย-ใจมันรวมกันอยู่ก่อน เดี๋ยวมันแยกของมันเอง ...ให้มันเป็นหนึ่งก่อน มันแยกของมันเอง จะไปแยกมันก่อนไม่ได้

ให้มันเหลือแต่กายเดียวก่อน เป็นความรู้สึกอันเดียวนั่นแหละ จ้องอยู่กับความรู้สึกนั่นแหละ จดจ้องไว้ อันอื่นไปอันอื่นมา ไม่ต้องไปสนใจ เพ่งจ้องลงไป


โยม –  มันเป็นลักษณะของที่เขาเรียกว่าสมถะรึเปล่าครับ

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ ...เพ่งจ้องเข้าไปเหอะ จนกว่ามันจะเหลือแต่ความรู้สึกล้วนๆ น่ะ มันเป็นความรู้สึกที่มันเกลี้ยงเกลาอยู่ ความรู้สึกมันก็จะหมดความหมายไปเองน่ะ

อย่าให้ความรู้สึกมันหาย เดี๋ยวความรู้สึกมันก็หมดความหมายไป ...เมื่อใดความรู้สึกมันหมดความหมายไปนั่นแหละ รู้เห็นมันจะชัดเจนขึ้นมาเอง

มันก็แยกออกมารวมธรรมชาติของมัน มันคนละอย่างกัน ธรรมชาติกายกับธรรมชาติใจมันคนละอย่างกัน มันแยกของมันเอง ไม่ต้องไปวุ่นวี่วุ่นวาย เขาแยกของเขาเอง


โยม –  แล้วคนที่เขาไม่ได้ฟังเรื่องการเจริญสตินี่ครับ เขาดูอีท่าไหนมันถึงได้เกิดผู้รู้น่ะครับ มันต่างกับที่พระอาจารย์สอนลักษณะนี้ ตรงไหนที่เขาเคลื่อนหรือว่าเขาขาดอะไรครับ

พระอาจารย์ –  มันไปดูอะไรล่ะ ไปเจริญสติอะไร ...มันทำไม่ถึง มันไม่ใช่สติผู้รู้จริงๆ น่ะ มันดู...ดูแล้วก็เข้าไปมีอารมณ์กับมัน ดูแล้วก็ไปอยากกับมัน

ดูแล้วก็ไปต้องการหรือไม่ต้องการอะไรกับมัน ไปดูแบบไปเลือกดูอย่างนั้น จะเป็นผู้รู้ได้ยังไง มันไม่สามารถจะรู้เห็นเฉยๆ ได้ แยกไม่ออกหรอก ...กิเลสเป็นผู้ดู ไม่ใช่ใจเป็นผู้ดู


โยม –  อย่างเคยได้ยินคำสอนว่า เพ่งกายอย่างเดียวมันจะดับจนเป็นอสัญญสัตตา เข้าพรหมลูกฟัก อันนั้นมันพลาดยังไงครับ

พระอาจารย์ –  มันไปเพ่งยังไงของมัน


โยม –  เขาบอกว่าไม่สนใจสภาวะอารมณ์ แต่ว่าดูแต่กาย เพ่งจ้องดูแต่กายจนจิตดับ แล้วก็เข้าสู่อสัญญสัตตาได้เลยครับ

พระอาจารย์ –  ก็ว่ากันไป


โยม –  คือแปลกใจว่าลักษณะนั้นเขา ทำไมผู้รู้จึงไม่ปรากฏ

พระอาจารย์ –  มันเพ่งไปหา มันเพ่งไปสู่ความว่างอ่ะดิ แล้วก็ไปจับอารมณ์ว่างนั้นน่ะ ...ก็บอกแล้วว่ากายนี่ไม่เคยหายน่ะ เราไม่เคยบอกให้กายหายนะ 

กายนี่จะไม่เคยหายเลย แต่ทั้งหมดที่มันหายคือขันธ์นี่หาย กายไม่หาย ...สมมุติขันธ์ บัญญัติขันธ์หายหมด กายยังคงอยู่ เป็นความรู้สึก อยู่ตลอดเวลาเลย

ทีนี้ไอ้ที่มันเข้าอสัญญสัตตาพรหมนี่ เพราะว่ามันไปทิ้งกาย เข้าใจรึเปล่า มันไม่จับกายเป็นทุ่นเป็นฐานไว้น่ะ ...แล้วก็พอล้อมรอบกายใจนี่มันมีแต่ความว่าง มันไปจับตรงนั้น มันไปจมแช่อยู่กับความว่าง

แต่ลักษณะเพียรเพ่งจ้องอยู่กับกายนี่ กายไม่มีวันหายหรอก แต่ความหมายกับขันธ์นี่จะหายไป ความรู้สึกว่าเป็นเราหายไป ความเป็นชายเป็นหญิง เป็นสัตว์บุคคลนี่หายไป

แต่กายคงอยู่...แต่คงอยู่ก็บอกแล้วอยู่ในฐานะที่เป็นอฐานะ...อฐานะรูป อฐานะนาม เป็นกายเปล่าๆ

เพราะนั้นจะไปเจริญสติปัฏฐาน ๔ แบบลอยๆ นี่ไม่ได้  ถึงแม้จะเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี่ แล้วเท่าทันทุกฐานที่มันออกมานี่ กาย เวทนา จิต ธรรม...ทัน เกิด-ดับๆๆ หมดนี่ แล้วเหลือแต่ผู้รู้อย่างเดียว

ยังไปไหนไม่ได้เลย เพราะมันไม่เกิดปัญญาอะไรเลย จะคงแต่ผู้รู้อยู่อย่างนั้นน่ะ ...ผู้รู้นั้นก็ไม่ใช่ เพราะเป็นผู้รู้ที่ยังไม่เกิดปัญญาอะไรเลย เป็นผู้รู้เฉยๆ

มันจะไม่เข้าใจกระบวนการของขันธ์ห้า มันจะไม่เข้าใจกระบวนการของธาตุ ของกาย  มันไม่เข้าใจปัจจยาการอะไรเลย มันก็เป็นแค่ผู้รู้เฉยๆ

เพราะนั้น สติปัฏฐาน ๔ นี่ มันจึงต้องมีศีลสมาธิปัญญานี่รองรับ ...ถ้าไม่มีศีลสมาธิปัญญารองรับนี่ มันจะไม่เกิดปัญญาเลย

แต่คราวนี้ว่า ผู้ปฏิบัติโดยทั่วไปนี่ มันจะไม่เข้าใจเรื่องของศีลน่ะ ...มันจะไปเข้าใจว่าศีลนี่คือบัญญัติ ศีลวิรัตินั่นน่ะ แล้วมันจะเอาศีลนั้นมารองรับสติปัฏฐาน ๔ ...ได้ยังไง 

ถ้าเอาบัญญัติ สมมุติว่ามีบัญญัติ มันจะเอาบัญญัติมารองรับสติปัฏฐานยังไง ...มันก็ไม่เข้าใจน่ะ ไม่รู้เรื่อง

แต่ถ้าเข้าใจความหมายของศีลว่า ปกติกายวาจานี่เป็นศีล...รองรับสติปัฏฐาน  ตรงเนี้ย มันจึงจะเกิดปัญญา ....ไม่ใช่ไปปล่อยรู้ขึ้นลอยๆ แล้วก็คอยดับทุกฐานนี่ ดับ-ว่างๆๆ อย่างเนี้ย

แล้วก็รู้ลอยอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่เอาอะไรเลยน่ะ ไม่เอาอะไรเลย ปัดทิ้งๆๆ อย่างนี้ แล้วก็ลอยอยู่อย่างนี้ ...เนี่ย เขาเรียกว่ามันไม่มีฐาน ไม่มีฐานของศีลสมาธิปัญญา

เพราะนั้นตัวสติปัฏฐาน ๔ คือให้เท่าทันในฐานทั้ง ๔  กาย เวทนา จิต ธรรม ...คือจิตนี่ อวิชชานี่ มันจะปรุงแต่งออกมา ก็คือสังขารา...สังขาราก็คือสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร

เพราะนั้นตัวอวิชชานี่ มันจะปรุงออกมาในแง่ของกาย เวทนา จิต ธรรม  มันมาสร้างอุปาทานรูป อุปาทานนามนี่ขึ้นมา 

โดยกายเป็นใหญ่บ้าง เวทนาเป็นใหญ่บ้าง ธรรมเป็นใหญ่บ้าง จิตเป็นใหญ่บ้าง ในลักษณะของขันธ์ห้า

เพราะนั้นตัวสติปัฏฐานก็รู้ทันการเกิดขึ้นมาของขันธ์ห้า ในแง่ของฐานต่างๆ นี่ ...คือการเกิดขึ้น การตั้งขึ้นในแง่ของขันธ์ห้า ลักษณะของขันธ์ห้า 

แล้วมันทัน แล้วมันเห็น ...สติมันระลึกรู้เท่าทันว่ากำลังเกิดอาการในจิต กำลังเกิดเป็นอารมณ์ กำลังเกิดเป็นความรู้สึกแห่งเราเกิดขึ้นตามฐานต่างๆ 

นี่ มันก็เข้าไปละความมี ความเป็นในขันธ์ห้า ความสืบเนื่องในขันธ์ห้า ในแง่ของกาย เวทนา จิต ธรรม ...นั่นนะเขาเรียกว่าสติปัฏฐาน

เมื่อละแล้วนี่ มันไม่ใช่อยู่ลอยๆ มันต้องอยู่กับกายนี่เป็นหลัก อยู่กับศีลนี่เป็นหลัก คือปกติปัจจุบันกาย ...เพราะตัวปกติปัจจุบันกายไม่ใช่ขันธ์ มันเป็นธาตุ ธาตุคือธาตุ ขันธ์คือขันธ์

เพราะนั้นถ้ามันไม่อยู่กับธาตุกายนี่ แล้วไม่มาเรียนรู้เรื่องความเป็นกายนี่ มันจะไม่เข้าใจกระบวนการของขันธ์ห้า ว่าขันธ์ห้านี่มันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร

เมื่อมันมาอยู่ที่กาย อยู่ที่ศีลนี่ แล้วก็เรียนรู้ดูเห็นความเป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่ก้อนของเรา

เมื่อมันค่อยๆ ลึกซึ้งในความเป็นก้อนธาตุหรือเป็นก้อนธรรม ความรู้สึกว่าเป็นเราแต่เก่าก่อนที่เคยมี ว่าเป็นกายของเรานี่ ก็ค่อยเจือจางลงไป

พอมันเจือจางลงไปนี่ ความไปมาของจิตที่ไปตามฐานต่างๆ กาย เวทนา จิต ธรรม...มันค่อยๆ ลดลง ...ขันธ์ห้ามันก็ค่อยๆ เบาบางลงๆ 

ความมีความเป็นในขันธ์ห้า ความอยากความทะยานไปในขันธ์ห้า การแส่ส่ายไปในกายเวทนาจิตธรรมก็น้อยลงๆ ...พร้อมๆ กับความรู้สึกที่เป็น “เรา” กับกายก็น้อยลง

มันก็เห็นอย่างนี้ ปัญญามันก็เกิดอยู่ตรงกายนี่แหละ มันไม่ได้ไปเกิดในสติปัฏฐาน

สติปัฏฐานน่ะเป็นตัวกัน ไม่ให้ขันธ์ห้ามันเตลิด มันงอกงามไปเป็นอดีต ไปเป็นอนาคต ไปเป็นเราเขาอะไร มันเหมือนเป็นตัวที่ตัดช่องไปมาของขันธ์น่ะ 

จิตมันจะไปแต่งขันธ์ขึ้นมา แล้วเข้าไปกลืนกินขันธ์ ไปครอบครองขันธ์อยู่ จะเอาเป็นแค่สติปัฏฐานแล้วก็รู้ดับๆ ไป อย่างนี้ แล้วก็เหลือแต่รักษาครองรู้ไว้ลอยๆ อย่างนี้...มันจะรู้จักอะไร 

นั่น มันจะเข้าใจสภาพกายยังไง จะเข้าใจสภาพต้นตอของขันธ์ห้ามั้ย มันจะไปละถึงต้นตอขันธ์ห้ามั้ย มันจะเข้าไปละที่เหตุได้มั้ยล่ะ

กิเลสมันก็จมอยู่ข้างในผู้รู้นั่นแหละ ไม่หายไปไหนหรอก มันไม่ลบล้างอะไรเลย ...เพียงแต่ไม่ให้มันเกิด แล้วทันแล้วก็ไม่ตามมัน แล้วก็ดับ แค่นั้น 

แล้วไงล่ะ เชื้อมันก็อยู่ข้างในไม่หายไปไหนน่ะ ...เพราะยังไม่เข้าใจเลยว่ากายตามความเป็นจริงคืออะไร ใจตามความเป็นจริงคืออะไร มันไม่เรียนมันไม่รู้อะไรเลยน่ะ เป็นผู้รู้ลอยๆ อยู่ยังไง

จะไปจับแต่ผู้รู้ลอยๆ ไม่ได้ ...มันต้องอาศัยผู้รู้นั่นน่ะ มารู้เห็นตามความเป็นจริงกับสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่ใช่ไปเรียนรู้กับสิ่งที่ไม่มีจริง...คือขันธ์ห้า


มันจะต้องมาเรียนรู้กับสิ่งที่มีอยู่จริง หรือว่าธรรมชาติที่มีจริง...คือกายเนี้ย คือธาตุนี่ เป็นของที่มีอยู่จริง ไม่ใช่ของที่สร้างขึ้นมาใหม่


(ต่อแทร็ก 17/32  ช่วง2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น