วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 17/36 (1)


พระอาจารย์
17/36 (580110E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10 มกราคม 2558
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  คร่ำเคร่งภาวนากันจริงๆ จังๆ ไปเหอะ ผลมันบังเกิดขึ้นเองน่ะ ...ไอ้ที่ว่าจิตไม่เคยอยู่เลย เอาไม่ไหว...อย่ามัวแต่บ่น อย่ามัวแต่ท้อ ให้ทำซ้ำๆ ลงไป

หลงลืม..เอาใหม่ คิดอีก..เอาอีก รู้อีก ...กายมีอยู่ทั้งวี่ทั้งวันอยู่แล้ว มันไม่ได้ไปตกนรกจมเหวอยู่ที่ไหน มันก็มีของมันอยู่ตรงนี้ตลอดเวลา ไม่หาย

น้อมกลับดึงกลับ คิดอีกรู้อีก คิดอีกดึงมาอีก ...กายก็อยู่ตรงนี้ รู้ลงมา ตรงไหนก็ได้  อย่าให้มันลอยออก...จิตมันลอย ...กายนี่ ตัวกายตัวธาตุนี่มันมีมวล มันจะอยู่ต่ำ หนักว่า ดูเหมือนต่ำกว่า

แต่ไอ้จิตนี่มันเผยอ มันเผยอออกๆ อย่างนี้  แล้วก็ไปล่องลอยวนเวียน คิดนึกปรุงแต่ง ...เนี่ย มันอยู่บนความเบาบางในจิตทั้งนั้น นั่นน่ะคือความเป็นขันธ์

เมื่อได้สติขึ้นมา ได้สติขึ้นมาก็รู้ว่ากำลังวนเวียนอยู่ในความเป็นไปของจิตคิดนึกปรุงแต่ง ขันธ์ห้า ขันธ์เรา ขันธ์คนอื่น ขันธ์ข้างหน้าข้างหลังอะไรนี่

กายก็อยู่นั่นแหละ น้อมกลับลงมา หยั่งลงมา หยั่งลงมาที่มวลน้ำหนัก มวลธาตุที่มันจับต้องได้น่ะ ...ความเป็นกายนี่มันจับต้องได้ ความเป็นศีลนี่มันจับต้องได้

แต่ไอ้ล่องลอยในขันธ์ห้า มันจับต้องอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันหรอก ...แต่ตัวเนื้อศีลน่ะ มันมีมวลนะ มันมีเนื้อ มันเป็นความรู้สึกที่มีเนื้อมีน้ำจับต้องได้ เป็นมวลธาตุน่ะ มีน้ำหนัก

แล้วก็ให้มันหนักแน่นไป...เหมือนให้จิตมันหนักอยู่กับศีล จิตมันก็หนักแน่นขึ้น มั่นคงขึ้น เหมือนกับศีลน่ะ นั่นน่ะถึงเรียกว่าสมาธิมันก็รวมอยู่ในที่เดียวกัน

เมื่อมันรวมอยู่ในที่เดียวกัน เดี๋ยวมันก็จะค่อยๆ แยก เพราะมันเป็นคนละอาการกัน ...ธรรมชาติของกายคือธรรมชาติของธาตุ ธรรมชาติของใจคือธรรมชาติของรู้และเห็น

เพราะนั้นมันคนละธรรมชาติ มันไม่ใช่อันเดียวกัน ...เดี๋ยวมันก็แยกจากกันให้เห็นเองน่ะ

แต่เบื้องต้นจะต้องให้มันมาแนบแน่นอยู่อย่างนี้ก่อน อยู่กับศีล อยู่กับกาย ความรู้สึกในกาย ในความเป็นไปของกาย...อย่างกัดไม่ปล่อย ไม่วางน่ะ เอาให้มันจมเขี้ยวไปเลย

นั่นน่ะที่ท่านเรียกว่าเพียรเพ่งลงไปในกาย ท่านใช้คำว่าเพียรเพ่งลงไปในกาย...อาตาปีๆ ...แต่ว่าความเพียรเพ่งลงไปในกายนี่ ไม่ใช่เพียรเพ่งแบบเอาเป็นเอาตาย ไม่ใช่เพียรเพ่งแบบคาดคั้น

แต่เพียรเพ่งลงไปด้วยความสุขุมนุ่มนวล ละเอียดคัมภีรภาพ ...ไม่ใช่เอาเป็นเอาตายเพ่งอย่างนั้น...ไม่ใช่ ...เพียรเพ่งลงไปด้วยความนุ่มนวล สุขุม ลึกซึ้ง ไม่ปล่อยไม่วาง

อย่างอื่นวางได้หมดเลย อย่างอื่นทิ้งได้หมดเลย  แต่ตรงนี้ไม่ปล่อยไม่วางเลย ...ไม่ปล่อยไม่วางศีล กัดไม่ปล่อย ดูซิจิตมันจะมีกำลังเหนือกว่าความตั้งใจอย่างนี้มั้ย

ถ้าตั้งใจจริงน่ะมันอยู่แน่ จิตไปไม่ได้หรอกถ้าตั้งใจจริงๆ มันตั้งใจไม่จริง มันไม่ตั้งกันจริงๆ มันไม่ตั้งใจกันจริงๆ ...ถ้ามันตั้งใจกันจริงๆ นี่ จิตไม่มีทางไปได้จากศีลหรอก

ความตั้งใจของพวกเรามันต่ำ มันอ่อน ตั้งได้แป๊บเดียว..หลุด ตั้งได้แป๊บเดียว.."ไม่เอาแระ" นี่ ความเพียรมันน้อย

และกระแสมันก็อยู่ข้างใต้ เหมือนคลื่นใต้น้ำน่ะ ที่มันจะขุดคุ้ยอะไรออกมาล่อ ออกมาเป็นเรื่องให้ต้องไปพะว้าพะวง กังวล มีเรื่องกังวลในขันธ์อีกมากมายที่ยังไม่ลุล่วง

มันก็คอยที่จะกำเริบขึ้นมาๆ เผยอขึ้นมาอยู่ตลอด ...ถ้าไม่ตั้งใจจริงๆ น่ะ ไม่สามารถต้อนกิเลสให้จนมุม หรือต้อนกิเลสให้มันอยู่ในมุมอับอยู่ข้างในนี่

เหมือนเราปิดฝาหม้อน้ำที่กำลังเดือดไว้น่ะ ซีลให้แน่นเลย อย่าไปเปิดให้มันนะ ...เอาจนน้ำนี่แห้งงวดน่ะ ไม่เอาไปรดไปราดใส่ใครน่ะ 

มันก็เผาไหม้ในตัวของมันเองอยู่ข้างในน่ะ แต่ว่ามันไม่สามารถเผยอขึ้นได้...เพราะอะไร ...เพราะอำนาจของศีลสมาธิปัญญานี่บังไว้ คลุมไว้ 

เพราะนั้นถ้าไม่เพียรเพ่งอยู่ด้วยศีลสมาธิปัญญานี่่ ไม่สามารถทานอำนาจของจิตปรุงแต่งอยู่หรอก

และอีกอย่างหนึ่งคือพวกเราปล่อยปละละเลย เห็นดีเห็นงามกับมัน...โดยเจตนา ...อยากคิดก็ให้มันคิด ไม่ว่าอะไรกับมันน่ะ อยากมีอารมณ์ อยากเกิดกิเลส ก็ปล่อยให้มันมีไป ไม่ว่าอะไรกับมันน่ะ

นี่ เราถือหางมันอยู่ตลอด เราปล่อยปละละเลยในศีลสมาธิปัญญา แล้วก็ไปถือหางข้างการปรุงแต่ง การสร้างอารมณ์ตลอด  เข้าข้างกิเลสนี่ เอาใจฝักใฝ่อยู่ในกองกิเลส เห็นดีเห็นงามไปกับการปรุงแต่งในขันธ์

แล้วก็ยังไปเจตนาสร้างความซับซ้อนในขันธ์ขึ้นมาอีก เป็นขันธ์ทับขันธ์ซ้อนขันธ์ เป็นขันธ์ซ้อนขันธ์ซ้อนขันธ์  จนงงไปหมด จนสับสนไปหมดว่าอะไรจริงกว่า อะไรเท็จ

มันไม่รู้ไม่ชี้อะไรเลย แยกจริงแยกไม่จริงออกจากกันไม่ได้เลย ...เพราะอะไร ...เพราะมันซ้อนๆๆ กันในขันธ์อยู่อย่างนั้น ทับซ้อนกันจนแยกแยะอะไรไม่ออก

แต่ถ้าถือศีลเป็นหลักไว้นี่ อย่าให้คลาดเคลื่อนจากศีล อย่าให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ...เหมือนตัวศีลตัวกายนี่ เป็นยันต์กันผีน่ะ กันผีหลอก

ผีก็คือขันธ์ห้านี่มันมาหลอก หลอกล่อๆ อยู่นี่ แต่ตัวกายนี่ตัวศีลนี่ เป็นเครื่องยืนยันความมีอยู่จริง เป็นของจริง จะได้ไม่ไปตกล่องปล่องชิ้นกับกิเลส กับขันธ์ห้า

ถ้าไม่มีตัวนี้เป็นตัวคอยยัน...คอยเป็นหมุดมาตรฐานไว้นะ  มันจะหลงเข้าไปในขันธ์ห้าโดยไม่รู้ตัวเลย ...แล้วมันจะเกิดสภาวะเข้าไปแอบอ้างขันธ์ห้าเป็นธรรม

กิเลสมันแนบเนียนมาก มันก็บอกว่าสิ่งที่กูปรุงทั้งหมดนี่คือธรรม ...มันสามารถปรุงได้จนถึงนิพพาน  สร้างสภาวะคล้ายคลึงนิพพานนี่ ขันธ์ห้ายังสร้างได้เลย

ถ้าไม่มีศีลเป็นเครื่องยืนยันความเป็นจริงแล้ว เราจะไม่มีทางเท่าทันกิเลสได้เลย ...กิเลสคืออวิชชา คือความปรุงแต่งในจิตนี่แหละ มันสามารถสร้างเสมอเหมือนของจริง หรือยิ่งกว่าจริงด้วยซ้ำ

อะไรยิ่งกว่าจริง...อภิญญา คือเห็นในสิ่งที่ตามองไม่เห็น ได้ยินในสิ่งที่หูไม่ได้ยิน รู้ในสิ่งที่เกินกว่าปุถุชนรู้ จิตธรรมดารู้ ...คือรู้ไปถึงชาติโน้น ชาตินั้น

พอมันปรุงถึงขั้นระดับอภิญญา อภิญญายิ่ง จิตยิ่งนี่ ก็เข้าไปมีไปเป็นอย่างเต็มอกเต็มใจเลย โดยหารู้ไม่ว่าทั้งหมดนี่คือความปรุงแต่งของจิต เป็นความรู้ที่ได้มาจากการปรุงแต่งของจิต หาความเป็นจริงไม่ได้ 

นี่เพราะอะไร ...เพราะว่าเราออกนอกศีล แล้วปล่อยให้จิตนี่มันสร้าง และก็สนับสนุนอุปกรณ์การก่อสร้างให้เขาน่ะ ด้วยการภาวนา นั่นคือกำลังไปซื้ออิฐหินปูนทรายเหล็กให้ขันธ์นี่สร้าง สร้างเสร็จก็มีเราเข้าไปอยู่เลย 

มันสร้างอะไร ...สร้างภพ มีเราเข้าไปอยู่...แล้วเราก็เอากายใจไปตาม ก็เลยเรียกว่าสร้างชาติ ...เดี๋ยวพอชาตินี้อ่อนลง ภพนี้ทรามลง ก็มานั่งหลับตาใหม่

ถูกกิเลสหลอกไปจนวันตายน่ะ หลอกง่ายด้วยผู้ปฏิบัตินี่ ...อะไรวูบๆ วาบๆ เป็นแสงเป็นสีขึ้นมานี่ อู้ย ตื่นเต้นดีใจ อวดอ้างสรรพคุณไปสามบ้านเจ็ดบ้าน

เขาเรียกว่าอะไร...อวดโง่ ...มันไม่รู้เลยว่าไอ้ที่ออกมาที่มันเห็นน่ะ...ของไม่จริง แล้วเป็นของที่เกิดจากการปรุงแต่งของกิเลส ...ถ้าไม่เรียกว่าอวดโง่ก็คงเรียกว่าอวดฉลาดไม่ได้

ก็เอาของโง่มาอวดน่ะ เอาของไม่จริงมาอวดมาแสดงน่ะ ...แต่ผลคลาดเคลื่อน ผลผิดพลาดคือ ไอ้คนฟังมันโง่กว่า เชื่อกันเป็นตุเป็นตะเลยน่ะ

แล้วยังมาสอบถามหาวิธีทำตาม นี่ โง่กันทั้งคลอก เป็นไปได้ยังไง ...ทั้งๆ ที่ว่าศีลสมาธิปัญญานี่ พระพุทธเจ้าพูด ครูบาอาจารย์พูดกรอกหู จนหูมันจะทะลุอยู่แล้ว

ความรู้ความเห็นใดก็ตามที่มาโดยไม่มีศีลสมาธิปัญญาเป็นบาทฐานรองรับนี่ ...ความรู้ความเห็นนั้นน่ะ ให้รู้ไว้เลยว่า...รู้ไม่จริง รู้ปลอม


(ต่อแทร็ก 17/36  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น