วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 17/34


พระอาจารย์
17/34 (580110C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
10 มกราคม 2558


พระอาจารย์ –  กลับวันไหน

โยม –  กลับวันนี้ส่วนหนึ่งครับ

พระอาจารย์ –  บวชกันนี่ จะสึกกันรึเปล่า หือ

ผู้ถาม –  ยังครับ

พระอาจารย์ –  บวชไปเรื่อยๆ

ผู้ถาม –  ครับ


พระอาจารย์ –  บวชแล้วน่ะ ก็อย่าลืมภาวนา ...เพราะว่าเป็นพระนี่ ถ้ามันไม่ภาวนานี่ มันก็ไม่ได้พระจริงๆ สักทีหนึ่งน่ะ 

มันจะเป็นพระจริง มันจะได้เป็นพระจริงๆ มันก็ต้องอาศัยการภาวนาเป็นหลัก ...ไม่งั้นมันก็ไม่เป็นพระแท้พระจริง มันก็ยังเป็นพระกันแบบปลอมๆ 

เพราะนั้น อาศัยการภาวนาเท่านั้น...ที่มันจะสร้างความเป็นพระขึ้นมาได้ ...เป็นวิธีเดียว การทำอย่างอื่นมันไม่สามารถสร้างความเป็นพระแท้ขึ้นมาได้

ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นงานสงเคราะห์ญาติโยม อะไรก็ตาม มันก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดความเป็นพระแท้กับตัวเองขึ้นได้ เท่ากับต้องภาวนาเป็นหลัก

ภาวนาเป็นนิจ เป็นกิจ เป็นอาจิณ เป็นด้วยความสม่ำเสมอ เป็นด้วยความไม่ขาดตกบกพร่อง มันถึงจะค่อยๆ พัฒนาจิตให้มันมีศีลสมาธิปัญญาเป็นเครื่องอยู่

ถ้ามันไม่ภาวนา มันจะหาศีลสมาธิปัญญาแท้นี่เป็นเครื่องอยู่ไม่ได้ ...ถ้าหาศีลสมาธิปัญญาแท้ที่เป็นเครื่องอยู่ของจิตไม่ได้นี่ ความเป็นพระภายนอกจะอยู่ได้ไม่นาน  แล้วจะอยู่ได้ด้วยความอึดอัด ลำบาก ไม่มั่นคง

แต่ถ้าภาวนาบ่อยๆ สม่ำเสมอ มันก็จะได้รู้จักศีลสมาธิปัญญาที่แท้ ...เมื่อมันได้รู้จักศีลสมาธิปัญญาที่แท้จริง มันก็จะอาศัยศีลสมาธิปัญญานั้นน่ะเป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นหลัก

เพราะนั้น ตัวศีลสมาธิปัญญานอกๆ นี่ ไม่สามารถเป็นหลักพอให้เกิดความมั่นคงในความเป็นพระได้ มันเป็นแค่เปลือกๆ ท่าทาง รูปแบบ เท่านั้น

มีแต่การภาวนาอย่างจริงจังเท่านั้น มันจึงจะเข้าถึงเนื้อแท้ธรรมแท้ของศีลสมาธิปัญญา

เพราะนั้นโดยหลักการของการภาวนา หัวใจใหญ่ หัวใจหลัก หัวใจสำคัญของการภาวนานี่ ก็คือการอบรมจิต การภาวนาจริงๆ ก็คือการอบรมจิต ให้มันอยู่ในปัจจุบัน...ให้มันอยู่กับปัจจุบัน

เพราะธรรมชาติของจิตนี่ มันไม่ชอบอยู่ในปัจจุบัน มันไม่ชอบอยู่กับปัจจุบัน มันจะไปมาแบบไม่มีขอบเขต ไปมาแบบไม่มีเวล่ำเวลา ไปมาแบบหาจุดจบไม่ได้

การภาวนาก็คือการอบรมจิต การควบคุมจิตให้มันหยุด ให้มันอยู่...หยุดอยู่ในที่ที่ควรอยู่ ...ที่ที่ควรอยู่สำหรับจิตในการภาวนาก็คือปัจจุบัน

ทีนี้ถ้าพูดถึงปัจจุบันนี่ มันก็จะเป็นคำว่าปัจจุบันลอยๆ ไม่รู้อะไรเป็นปัจจุบันกันแน่ นั่นก็ปัจจุบัน นี่ก็ปัจจุบัน ตรงนั้นตรงนี้ก็ปัจจุบัน มันก็ปัจจุบัน มันก็ตีความไปสะเปะสะปะ ไม่รู้จะปัจจุบันไหน

พระพุทธเจ้าท่านเลยรวมว่า ให้รวมปัจจุบันเป็นหนึ่งเดียว คือให้รวมอยู่ในปัจจุบันศีล ...ในที่นี้ของคำว่าปัจจุบันศีลน่ะ ก็ต้องทำความเข้าใจให้ได้ ให้ดี ว่าความหมายของปัจจุบันศีลคืออะไร

ศีล..ท่านแปลไว้ว่า..ปกติกายวาจา ...เพราะนั้นการอบรมศีลให้อยู่กับปัจจุบัน ก็คือให้จิตอยู่กับปัจจุบันกาย ปกติกาย

เพราะกายนี่เขาแสดงความปกติอยู่ทุกตลอดปัจจุบัน โดยที่ไม่ต้องไปสร้าง ไม่ต้องไปทำขึ้นมาใหม่ ...เขาแสดงความมี ความเป็น ความปรากฏอยู่ทุกปัจจุบัน

เพราะนั้นเบื้องต้นของการภาวนาก็คือต้องอบรมศีล อบรมจิตนี่ ให้อยู่ในกรอบของศีล ...ก็คือกรอบปริมณฑล หนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ คือปัจจุบันกายนั่นเอง

อย่าให้ว่าง อย่าให้ห่าง อย่าให้หาย อย่าให้บกพร่อง ทรงศีล รักษาศีลไว้ด้วยภาวนา ...ศีลภายนอกก็รักษา ศีลภายในก็ต้องทำ

เพราะเรามาอยู่ในเพศของพระ...ที่โดยรูปแบบโดยรูปทรงนี่ มันจะต้องเป็นไปเพื่อความเป็นพระอยู่แล้วโดยตรง

เพราะนั้นในความเป็นพระนี่ มันต้องรักษา ต้องเข้มงวดทั้งสองศีล คือศีลภายนอกและศีลภายใน ...เพราะผู้ที่อบรมจิตให้อยู่ในกรอบของศีลนี่ ถือว่ามันเป็นต้นทางปากทางของมรรค

ถ้าไม่ดำเนินหรือว่าเห็นหนทางของมรรค หรือไม่ดำเนินบนทางแห่งมรรค มันจะไม่เข้า...ไม่สามารถเข้าสู่ความหลุดพ้นหรือว่านิพพาน...ที่เรียกว่าเข้าสู่ความเป็นพระโดยสมบูรณ์แบบได้

นี่ มันเป็นช่องทางเดียวเท่านั้นที่จะคืนกลับสู่ความเป็นพระได้จริง ทางเดียว ไม่มีทางอื่น

เพราะนั้นผู้ที่ต้องการจะไปสู่นิพพาน ความหลุดพ้น ความไม่กลับมาเกิดตายอีก เบื้องต้น สิ่งแรกที่ต้องทำ คือต้องอบรมจิตโดยศีลก่อน อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะศีลภายใน คือกายปัจจุบันนี่แหละ

อย่างเข้มงวดคืออย่างไร คือไม่ให้หลงลืมว่ากายนี้มีอยู่ ว่ากายนี้กำลังแสดงอาการอะไร มีความรู้สึกอย่างไร ปรากฏขึ้นอย่างไร รู้อยู่ทุกขณะปัจจุบัน

แล้วรักษาความรู้ความเห็นต่อกายปัจจุบันนี้อย่างต่อเนื่อง ...เมื่อผู้ปฏิบัติคร่ำเคร่งในศีลอย่างนี้ เรียกว่าเป็นผู้เคร่งครัดในศีล จิตจะดำรงคงตัวคงอยู่ด้วยความมั่นคงเป็นสมาธิ

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ที่ยังไม่เข้าถึงศีลตัวจริงตัวแท้นี่ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงสมาธิตัวจริงตัวแท้ได้เช่นเดียวกัน

เพราะนั้นถ้าอยากได้จิตที่เป็นสมาธิตั้งมั่นอย่างเป็นสัมมาสมาธิ จะต้องประกอบเหตุแห่งศีล ด้วยความถึงพร้อมในศีล  ไม่ให้จิตนี้ล่วงละเมิดศีล คือออกนอกกายปัจจุบันกายนี้ไป

ถ้าเคร่งครัดระวังรักษาจิตไม่ให้มันออกนอกกายปัจจุบัน หลงลืมกายปัจจุบัน ผู้นั้นเรียกว่าเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศีล

การประกอบเหตุแห่งศีล เมื่อถึงพร้อม สมาธิย่อมบังเกิด...บังเกิดขึ้นเองโดยไม่มีข้อต่อรอง ...มันจะเป็นไปตามลำดับ ตามเหตุอันควรแก่เหตุ ตามธรรมอันควรแก่ธรรม

เมื่อประกอบเหตุแห่งธรรมที่เรียกว่าศีล ผลอันควรแก่เหตุแก่ธรรมนั้นก็คือสมาธิ ...เมื่อประกอบเหตุแห่งศีลจนบังเกิดสมาธิ ก็ต้องประกอบเหตุแห่งศีลและสมาธินั้นไว้เนืองๆ

ทรงไว้รักษาไว้ อย่าเหลาะแหละ อย่าขี้เกียจ อย่ามักง่าย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง อย่ารั้ง อย่ารอ อย่าคอย อย่าเห็นว่าอย่างอื่นสำคัญกว่า การกระทำกิจการงานภายนอกสำคัญกว่า

ถ้าผู้ใดไปเห็นว่ากิจการภายนอก อารมณ์ภายนอกสำคัญกว่า ศีลสมาธินั้นย่อมจะเสื่อมลง ...เพราะไม่มี..ผู้ปฏิบัตินั้นไม่เข้าไปประกอบเหตุแห่งศีลสมาธิอย่างต่อเนื่อง

แล้วถ้ายิ่งไปประกอบกิจภายนอกศีลสมาธิปัญญาในโลกบ่อยๆ ซ้ำซาก ...มันจะเกิดสภาวะติดและข้องในผลแห่งการกระทำนั้นๆ

เวลาจะกลับมาคืนสู่ศีลสมาธิปัญญา ย่อมยากมากขึ้นไปตามลำดับ ...จนบังเกิดความละเลย ลืมเลือนในศีลสมาธิปัญญาเลยก็มี กลายเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านในการภาวนาเลย

ไม่เอาการภาวนาเป็นหลัก เป็นหัวใจของการบวช การเป็นพระเลย ...นี่ผิดวัตถุประสงค์ของพระพุทธเจ้า ในการที่ว่าบวชมาเป็นพระเพื่ออะไร

เพื่อกิน เพื่อเล่น เพื่อหาความสนุกไปวันๆ หรือเปล่า ...อันนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่พระพุทธเจ้าท่านอนุญาตให้บวช หรือให้เกิดการบวชขึ้นเลย

เพราะนั้นต้องคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอ ถามตัวเองอยู่เสมอ ศีลมีรึยัง ศีลในมีรึยัง ศีลนอกมีรึเปล่า ศีลในมีรึยัง สมาธิมีรึยัง จิตตั้งมั่นได้หรือยัง เข้าถึงสภาวะจิตไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์รึยัง

ถามตัวเองบ่อยๆ มีปัญญารึยัง รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมรึยัง รู้แจ้งเห็นจริงในกายรึยัง รู้แจ้งเห็นจริงกับใจรึยัง รู้แจ้งเห็นจริงกับขันธ์ทั้งห้ารึยัง

ถ้าถามตัวเอง แล้วตอบตัวเองไม่ได้ ว่าเหล่านี้ไม่เคยมี ไม่เคยบังเกิด ไม่เคยปรากฏเลยแห่งศีลสมาธิปัญญา ความรู้แจ้งรู้ชัดในกายใจ ความรู้แจ้งรู้ชัดในขันธ์ห้า ในความรู้แจ้งรู้ชัดในปัจจยาการแห่งการเกิดและการดับ

อย่าละเลย รีบขวนขวายขึ้นมาด้วยตัวเอง ไม่งั้นจะมีชีวิตเหมือนหลอกลวงชาวบ้านเขาไปวันๆ หาอยู่หากินไป เขาทำบุญทำทานมา ก็เหมือนกับทำบุญทำทานกับใครก็ไม่รู้

นี่ ไม่รู้จะเอาบุญที่ไหน เอาธรรมที่ไหนไปทดแทนเขา ...เพราะว่าคนเขาตั้งอกตั้งใจทำบุญกว่าคนรับอีก

แต่ถ้าเรามีศีลมีสมาธิ มีปัญญา พอแก่เหตุอันเป็นต้นทางบุญแก่เขา เขาก็ย่อมได้ในสิ่งที่ดีเป็นบุญตอบแทน

แต่ถ้าตัวผู้รับไม่มีเค้าต้นตอบุญให้เขาเลย โดยศีลสมาธิปัญญาเป็นต้นตอ มันก็น่าละอายใจอยู่บ้างนะ

ต้องทบทวนเสมอ ถึงศีลรึยัง ถ้ายัง รีบขวนขวายในศีล ...ถ้าถึงในศีลแล้ว ให้ขวนขวายให้เข้มข้นจนถึงสมาธิ ...เมื่อได้สมาธิ คร่ำเคร่งอยู่กับสมาธิ สติสัมปชัญญะ

จนบังเกิดปัญญาญาณทัสสนะ จนเป็นญาณวิมุติทัสสนะ จนรู้แจ้งเห็นจริงโดยตลอดสามโลกธาตุ ...นั่นแหละคือหน้าที่การงานหลัก นอกนั้นเป็นงานการรอง

สำหรับพระ อย่าให้มันกลับกันว่าภาวนาเป็นงานรอง กิจการภายนอกเป็นงานหลัก กายอยู่ที่ไหน ใจรู้ใจเห็นต้องอยู่ที่นั้น โดยที่ไม่ให้คลาดเคลื่อนเลย

นี่คือผู้อบรมจิตอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกกาล ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ เป็นผู้มีภาวนาอยู่เป็นนิจ ส่วนใครคนอื่นเขาจะทำหรือไม่ทำ ก็ไม่ใช่เรื่องราว ไม่ใช่ประเด็น

ตัวเราเองจะต้องทำ นึกน้อมอยู่ด้วยองค์ภาวนาอยู่เสมอ กาย...ยืนเดินนั่งนอน ถือว่านี่คือองค์ภาวนา ถือกายยืนเดินนั่งนอนนี่เป็นบริกรรมภาวนา

รู้เห็นทั่วทุกอิริยาบถ ตลอดทั้งอิริยาบถ ไม่ให้จิตมันลืม มันเลือน มันหลง มันหาย ออกไปจากกายนี้ ...ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนแล้วเวียนเล่า อยู่ในก้อนกองกายนี้

จนกว่าจิตจะตั้งมั่น มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับรูปนามภายนอก...รวมทั้งรูปนามภายในคือจิตคิดนึกปรุงแต่ง มันก็จะค่อยๆ สืบค้นความเป็นจริงภายในกาย

ด้วยสมาธิ ด้วยการหยั่งรู้ดูเห็น ด้วยการสังเกตสังกา ด้วยความแยบคาย ถี่ถ้วน ละเอียดลออ ด้วยความมนสิการ ...จนเกิดความเข้าใจขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย ถึงความเป็นจริงของกายนี้

ที่เคยมีความเห็น ที่เคยเชื่อว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา เป็นชายเป็นหญิง เป็นสัตว์เป็นบุคคล ...ก็ค่อยๆ สืบค้น เห็นตามความเป็นจริงแห่งกาย ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชายหญิง

แต่เป็นเพียงแค่การปรากฏขึ้น การตั้งอยู่ การรวมตัวกันของธาตุ เป็นกลุ่มความรู้สึก เป็นก้อนความรู้สึก ที่ประชุมรวมกัน ครองกันอยู่ เกาะกุมกันอยู่อย่างหลวมๆ

ในความเกาะกุมประชุมกันน่ะ หาความเป็นสัตว์ หาความเป็นบุคคล หาความเป็นเราไม่ได้ ...ดูแล้วดูอีก เห็นแล้วเห็นอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ยังหาเราไม่เจอในกาย

ก็ยังเห็นเป็นเพียงแค่ก้อนกลุ่มรวมตัวกันอย่างไร้ความหมาย ไม่มีความหมายในมัน  รวมกัน ปรากฏขึ้นแล้วก็ดับว่างหายไป  รวมกันใหม่ เกิดขึ้นใหม่ ประชุมกันใหม่ หมดวาระก็ดับว่างหายไป

นี่ มันเห็นแล้วเห็นอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ...ผู้ที่จะเห็นแล้วเห็นอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างนี้ เรียกว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่ทรงศีลสมาธิปัญญาอยู่อย่างสม่ำเสมอ

แม้กระทั่งการจะทำกิจการภายนอก ก็ยังไม่ละเว้นศีลสมาธิปัญญาภายใน มันติดมันคาอยู่ตลอดเวลาด้วยองค์ภาวนาในศีลสมาธิปัญญา

เนี่ย คือผู้ที่กำลังเดินอยู่บนมรรคาปฏิปทา หรือเส้นทางแห่งมรรค ก้าวเดินไปอยู่บนมรรคทุกลมหายใจเข้าออก...ไม่หยุด

จากที่มันเคยใกล้ชิดติดอยู่กับการเกิดการตายไม่รู้จักจบจักสิ้น ...มันก็ค่อยๆ ใกล้ชิดนิพพานเข้าไปเรื่อยๆ ด้วยการรู้แจ้งเห็นจริงในกองกายกองธาตุ ว่าเป็นสักแต่ว่าก้อนธาตุก้อนธรรมหนึ่ง

ไม่มีความหมาย ไม่มีนัยยะอะไรในนั้น ...นี่ ยิ่งดูยิ่งรู้ยิ่งเห็นในกาย ยิ่งแจ้งขึ้นเท่านั้น ยิ่งแจ้งยิ่งชัดยิ่งสว่างตามความเป็นจริง ว่าเขาไม่ใช่เรา ความยึดมั่นถือมั่นในกายเรา

ความจริงจังมั่นหมายในกายเราก็ค่อยๆ คลี่คลายลงไป จนถึงจุดที่ว่าหมดสิ้น...ซึ่งความยึดมั่นยึดหมายในกายนี้ว่าเป็นเรา...ของเรา

นี่แหละคือหน้าที่ของพระ หน้าที่หลัก ...ต้องทำให้ถึง ต้องทำให้ได้ ต้องทำให้เป็นตัวอย่างแก่สัตว์โลก ...ไม่ใช่ว่าเป็นตัวอย่างให้เขาว่ากล่าวดุด่า ด่าทอเสียดสีในแง่มุมต่างๆ

มันน่าจะเป็นตัวอย่างแห่งการแสดงตนเป็นผู้ที่เข้าถึงศีลสมาธิปัญญา เป็นแบบอย่างแก่คนทั่วไป ...นี่ สาระแห่งการบวชก็จะเกิดแก่ตนและผู้อื่น

อย่ามัวแต่เล่น อย่ามัวแต่ขี้เกียจ เห็นแก่หลับเห็นแก่นอน มากกว่าการเจริญสติรักษากายใจไว้ ไม่ให้ขาด ไม่ให้ลืม ไม่ให้เลือน ไม่ให้หาย

ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ที่ไหน นึกน้อมระลึกอยู่ กำกับจิตอยู่กับกายไว้ด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ ทรงความต่อเนื่องในความรู้เนื้อรู้ตัวไว้ เป็นการสร้างบาทฐานของศีลและสมาธิ..มากๆ ให้มากที่สุด

ศีลสมาธิมากเท่าไหร่ ปัญญาก็เท่านั้น ...ไม่ต้องไปหารู้หาเห็นที่อื่นเลย เกิดมามีกายมีใจนี้ เหมือนเกิดมากับตู้พระธรรม ไปไหนมาไหนก็แบกตู้พระธรรมไปตลอดเวลาอยู่แล้ว

เพียงแต่ว่าเรายังไม่เปิดตู้พระธรรมนี้อ่าน จึงไม่เห็นข้อความในธรรมที่เขาแสดง ที่เขาเป็น ที่เขากำลังดำเนินไปตามครรลองธรรม ไปตามแบบแผนแห่งธรรม

คือแบบแผนธรรมดา แบบแผนที่เป็นปกติและธรรมดา ...ไม่ดีไม่ร้าย ไม่ถูกไม่ผิด ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เป็นคุณไม่เป็นโทษ นั่นน่ะคือแบบแผนที่เขาดำเนินไปตามธรรม...อย่างธรรมดา

เพราะนั้นถ้าไม่ตั้งใจดู ตั้งใจรู้ ตั้งใจเห็น กับกายนี้อย่างจริงจัง ...จะไม่เข้าใจสภาพที่แท้จริงของกายที่เป็นธรรม...หรือธรรมดาเลย


(ต่อแทร็ก 17/35)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น